โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 12,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ความผิดฐานอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ทางไต่สวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี 2 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพ ม. จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำรงตำแหน่งครูอัตราจ้างสอน วิทยาลัยการอาชีพ ม. ในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 จำเลยที่ 1 ดำเนินการอนุมัติให้จัดซื้อวัสดุตามโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายและระบบไฟฟ้าสำหรับห้องเรียนคอมพิวเตอร์ แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ จำนวน 6 ห้อง และให้นายอานนท์ ครูหัวหน้าแผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เป็นผู้จัดทำบันทึกขออนุญาตดำเนินการจัดซื้อวัสดุตามโครงการดังกล่าวโดยใช้งบประมาณบำรุงการศึกษา 269,950 บาท จำเลยที่ 1 ดำเนินการแบ่งซื้อวัสดุออกเป็น 3 ครั้ง ให้อยู่ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่สามารถอนุมัติได้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 29 โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงห้องเรียนคอมพิวเตอร์ กับให้จัดซื้อโดยวิธีตกลงราคาแล้วได้จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์รวม 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า 6 รายการ เป็นเงิน 82,620 บาท ครั้งที่ 2 จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าและวิทยุ 8 รายการ เป็นเงิน 98,480 บาท ครั้งที่ 3 จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าและวิทยุ 7 รายการ เป็นเงิน 88,850 บาท รวมเป็นเงิน 269,950 บาท นอกจากนี้ ยังสั่งให้มีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง เป็นวัสดุไฟฟ้าและวิทยุ 4 รายการ เป็นเงิน 34,400 บาท ซึ่งการจัดซื้อทั้ง 4 ครั้ง จำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการตรวจรับการจัดซื้อวัสดุตามโครงการดังกล่าว และสั่งให้ฝ่ายงานพัสดุดำเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จะดำเนินการจากร้าน ส. ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ นั้น เห็นว่า การจัดซื้อหรือจัดจ้างในโครงการปรับปรุงห้องเรียนคอมพิวเตอร์ แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ โดยใช้งบประมาณบำรุงการศึกษาเป็นเงิน 269,950 บาท จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 เพราะการจัดซื้อหรือจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวที่ใช้สำหรับปรับปรุงห้องเรียนคอมพิวเตอร์ มีลักษณะเป็นวัสดุไฟฟ้าและวิทยุประเภทและชนิดเดียวกัน มีความต้องการในการใช้งานในลักษณะและระยะเวลาเดียวกัน โดยมีงบประมาณในการจัดซื้อหรือจัดจ้างเป็นเงิน 269,950 บาท ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 20 และข้อ 40 ถึงข้อ 43 ที่แก้ไขแล้ว สรุปความว่า ต้องดำเนินการจัดซื้อหรือจัดจ้างโดยวิธีการสอบราคา เนื่องจากมีราคาในการจัดซื้อหรือจัดจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท โดยจะต้องส่งประกาศเผยแพร่การสอบราคาและเอกสารสอบราคาไปยังผู้มีอาชีพขายหรืออาชีพรับจ้างเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์เพื่อปรับปรุงห้องเรียนคอมพิวเตอร์ให้มากที่สุด อันจะทำให้มีผู้ที่จะเสนอราคาหลายราย ทำให้มีการแข่งขันราคาได้อย่างเป็นธรรม แม้การที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการแบ่งซื้อวัสดุออกเป็น 3 ครั้ง ให้อยู่ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท แล้วสั่งให้จัดซื้อโดยวิธีตกลงราคา เพื่อให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่สามารถอนุมัติได้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 19 และข้อ 29 ที่แก้ไขแล้ว อันเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขแล้ว ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีการสอบราคาดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ตาม แต่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 นั้น ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของวิทยาลัยการอาชีพ ม. เท่านั้น ส่วนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ อยู่ในความรับผิดชอบของงานพัสดุ และการที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างก็เป็นการเสนอขึ้นมาตามลำดับชั้นและเป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา ทำให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และจำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานนี้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาทำนองเดียวกันว่า ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 3 ได้บัญญัติบทนิยามคำว่า "การเสนอราคา" ไว้ ซึ่งหมายความว่า ต้องมีการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมเสนอราคาตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ดังนั้น การจัดซื้อโดยวิธีตกลงราคากับร้าน ส. เพียงรายเดียว ไม่ถือว่าเป็นผู้เสนอราคา อันจะเป็นความผิดฐานนี้ นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 บัญญัติว่า "เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่..." การที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้มีการจัดซื้อหรือจัดจ้างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตามโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายและระบบไฟฟ้าสำหรับห้องเรียนคอมพิวเตอร์ โดยแบ่งวงเงินที่จะซื้อออกเป็น 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท จนทำให้อำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างเปลี่ยนไปจากวิธีสอบราคาเป็นวิธีตกลงราคา ที่เจ้าหน้าที่พัสดุสามารถติดต่อกับผู้ขายหรือผู้รับจ้างเพียงรายเดียวมาตกลงราคาได้โดยตรง และจำเลยที่ 1 มีคำสั่งเจาะจงให้ซื้อจากร้าน ส. ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมเป็นหุ้นส่วนจึงเป็นการเอื้ออำนวยแก่ร้าน ส. ให้ได้เป็นผู้เข้าทำสัญญากับวิทยาลัยการอาชีพ ม. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้กระทำการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 22 วรรคสอง ที่กำหนดว่า "การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกันเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด หรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนไป จะกระทำมิได้" ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงบ่งชี้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีผู้เสนอราคารายอื่นเข้ามาแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และแม้การจัดซื้อโดยวิธีตกลงราคาในคดีนี้นั้น มีร้าน ส. เพียงรายเดียวที่เข้ามาตกลงราคากับวิทยาลัยการอาชีพ ม. แต่การจะตกลงราคากันได้นั้นต้องประกอบด้วยข้อเสนอของผู้ขายและคำสนองรับของผู้ซื้อเป็นสำคัญจึงถือได้ว่าร้าน ส. โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐอันเกี่ยวกับการซื้อ ซึ่งเป็นการเสนอราคาตามบทนิยาม มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 แล้ว อีกทั้งเมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติว่า "ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม..." ซึ่งองค์ประกอบหลักของความผิดตามมาตรานี้คือ กระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม แสดงให้เห็นได้ว่าความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นได้แม้จะมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว โดยหาจำต้องมีผู้เสนอราคา 2 รายขึ้นไปดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาไม่ จำเลยที่ 1 ดำเนินการแบ่งวงเงินให้อยู่ในวงเงินที่สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคา ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 19 ที่แก้ไขแล้ว กำหนด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้มีผู้อื่นเข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรมด้วยวิธีสอบราคา เพื่อเอื้ออำนวยแก่ร้าน ส. เพียงรายเดียวให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับวิทยาลัยการอาชีพ ม.โดยมิชอบ เป็นเหตุให้รัฐต้องเสียหาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ส่วนจำเลยที่ 3 ที่รู้ถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 และจัดหาวัสดุให้ในนามของร้าน ส. ที่ตนเองเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย โดยจัดทำบิลส่งของนำวัสดุอุปกรณ์ตามรายการขอซื้อขอจ้างทั้ง 4 ครั้ง มาส่งให้แก่วิทยาลัยการอาชีพ ม. ตามที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จัดซื้อหรือจัดจ้าง การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีว่า ศาลอุทธรณ์ลงโทษหนักเกินไปและมีเหตุควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของร้าน ส. ได้ประโยชน์จากการที่สามารถเข้าทำสัญญากับวิทยาลัยการอาชีพ ม. หน่วยงานของรัฐ ได้โดยไม่ต้องสอบราคาเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม แต่ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของศาลและการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ความว่า การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตามโครงการในครั้งนี้ไม่ได้มีราคาสูงกว่าราคาตามท้องตลาด สามารถประหยัดงบประมาณได้ ทั้งเป็นประโยชน์แก่วิทยาลัยการอาชีพ ม. ในการจ้างแรงงานเพราะใช้นักศึกษาของวิทยาลัยดำเนินการติดตั้งเอง โดยมีอาจารย์ที่สอนด้านนี้โดยตรงเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งถือว่าเป็นการฝึกงานและเป็นประสบการณ์ต่อนักศึกษาในภาคปฏิบัติ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังขึ้น แต่เพื่อให้หลาบจำและป้องปรามมิให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดทำนองนี้อีก เห็นสมควรวางโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 อีกสถานหนึ่ง สำหรับฎีกาข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง และเนื่องจากเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี และปรับ 108,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 72,000 บาท ทางไต่สวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน และปรับ 72,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี 2 เดือน 20 วัน และปรับคนละ 48,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสามฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์