โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91, 291, 300 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 92, 93, 143, 151, 157 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 11, 39 พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 64
จำเลยให้การปฏิเสธ
ก่อนเริ่มสืบพยานศาลชั้นต้นสอบโจทก์และจำเลย ได้ความว่าขณะเกิดเหตุจำเลยยังรับราชการทหารประจำการเป็นทหารเกณฑ์ กรมทหารราบที่ 21 กองทหารรักษาพระองค์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยเข้ารายงานตัวรับราชการตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 และคดีนี้อัยการทหารได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำโดยประมาทโดยมีพลเรือนคือ นายเซียงผู้ตายเป็นฝ่ายประมาทด้วย จึงส่งสำนวนให้โจทก์ดำเนินคดีนี้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยไม่ใช่ตัวการร่วมกับพลเรือนตาม ป.อ. มาตรา 83 คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษา จึงให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องแล้วสั่งใหม่ว่าไม่รับฟ้อง ให้คืนตัวจำเลยแก่โจทก์เพื่อดำเนินการฟ้องจำเลยต่อศาลที่มีอำนาจ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษาหรือไม่ ได้ความจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยซึ่งเป็นทหารขับขี่รถจักรยานยนต์โดยมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ขับรถโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของนายเซียง เป็นเหตุให้นายเซียงถึงแก่ความตายและนางสาวนารีซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถของจำเลยได้รับอันตรายสาหัส และจากการไต่สวนของศาลชั้นต้นปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2541 ได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นพลทหารประจำการ และคดีนี้อัยการทหารได้พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำโดยประมาทโดยมีพลเรือน คือ นายเซียงผู้ตายเป็นฝ่ายประมาทด้วย จึงส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโจทก์เป็นผู้ดำเนินคดี แสดงว่าอัยการทหารมีความเห็นว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ดังนั้น แม้ในขณะกระทำผิดจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ตาม แต่เมื่ออัยการทหารเห็นว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารและส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ซึ่งบัญญัติว่า "?ในกรณีเช่นนี้พนักงานอัยการจะส่งสำนวนกลับคืนไปยังอัยการทหารเพื่อให้ดำเนินคดีนั้นมิได้" แสดงว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ให้ถือเอาความเห็นของอัยการทหารที่วินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นที่สุด แม้พนักงานอัยการจะมีความเห็นที่แตกต่าง ก็ไม่อาจส่งสำนวนการสอบสวนกลับคืนไปยังอัยการทหารอีก ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องเขตอำนาจศาลในการดำเนินคดีที่มีปัญหาคาบเกี่ยวว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดระหว่างศาลทหารกับศาลพลเรือน และเมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนที่ส่งมาตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ต้องพิจารณาฟ้องร้องคดีนั้นต่อศาลพลเรือนโดยถือว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน และในกรณีเช่นนี้ศาลพลเรือนจะปฏิเสธไม่ประทับฟ้องคดีดังกล่าวโดยเหตุว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารอีกมิได้ ดังนั้น เมื่ออัยการทหารมีความเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารแล้ว กรณีจึงอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษาคดี
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องและไม่รับฟ้องโจทก์ และให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป.