โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๖๗, ๙๗, ๑๐๒ ป.อ. มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑ ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก ๕ ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก ๕ ปี รวมจำคุก ๑๐ ปี เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ เป็นจำคุก ๑๕ ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๑ ปี ๓ เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลางให้แก่เจ้าของ ส่วนเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดจึงให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า? สำหรับเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลางซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษจำนวนอื่นก่อนคดีนี้ และขอให้ริบโดยอ้างอิง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ และ ป.อ. มาตรา ๓๒, ๓๓ มานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เงินสดของกลางดังกล่าวไม่อยู่ในความหมายเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ บัญญัติไว้ และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา ๓๒, ๓๓ (๒) จึงไม่อาจริบได้ในคดีนี้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๑๔/๒๕๔๓ (ประชุมใหญ่) ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี โจทก์ นางสาวอัญชลี โต๊ะเฮง จำเลย แต่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป ที่ศาลชั้นต้นสั่งริบเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลางในคดีนี้ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา นอกจากนี้แม้จะปรากฏตามทางพิจารณาว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดธนบัตรฉบับละ ๑๐๐ บาท จำนวน ๑ ฉบับ ที่ใช้ล่อซื้อได้จากจำเลยเป็นของกลางด้วย แต่โจทก์ มิได้มีคำขอให้คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ รวมทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าธนบัตรของกลางดังกล่าว เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้โดยยังมิได้คืนแก่เจ้าของ จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องพิจารณาสั่งคืนธนบัตรของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของตาม ป.อ. มาตรา ๔๙ อีก
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยจำคุกกระทงละ ๕ ปี รวมโทษ ๒ กระทง เป็นจำคุก ๑๐ ปี แล้วเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ เป็นจำคุก ๑๕ ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ แล้ว คงจำคุก ๑๑ ปี ๓ เดือน นั้น เป็นผลร้ายแก่จำเลยเพราะมีผลทำให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกมากขึ้น ซึ่งที่ถูกต้องจะต้องเพิ่มโทษจำเลยเป็นรายกระทงก่อน แล้วจึงลดโทษให้จำเลยเป็นรายกระทง หลังจากนั้นจึงรวมโทษ ซึ่งจะปรากฏผลดังนี้คือ เมื่อเพิ่มโทษจำเลยกระทงละกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ แล้วเป็นจำคุกกระทงละ ๗ ปี ๖ เดือน เมื่อลดโทษให้จำเลยกระทงละหนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ แล้วคงจำคุกกระทงละ ๕ ปี ๗ เดือน ๑๕ วัน รวมโทษ ๒ กระทง เป็นจำคุก ๑๐ ปี ๑๕ เดือน ทั้งนี้โดยไม่คำนวณโทษจำคุกส่วนที่เป็นเดือนให้เป็นปี เพราะเมื่อนำมาคำนวณระยะเวลาจำคุกตาม ป.อ. มาตรา ๒๑ วรรคสองแล้ว จะเป็นผลร้ายแก่จำเลย ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่กำหนดโทษเมื่อเพิ่มโทษและลดโทษให้จำเลยเป็นรายกระทงแล้วจึงให้รวมโทษ ๒ กระทง เป็นจำคุกจำเลย ๑๐ ปี ๑๕ เดือน และเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลางที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษจำนวนอื่นก่อนคดีนี้ไม่ริบ.