โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2และบริวารให้รื้อถอนบ้านของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกจากที่ดินของโจทก์และขับไล่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ออกจากบ้านและที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากบ้านและที่ดินแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินและบ้านตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกของนายกล่อมและนางเอม แพอ่อน ที่ยังมิได้แบ่งปัน จำเลยที่ 2นางแป้นมารดาโจทก์ นายป๊อก และนายห่อบุตรทั้งสี่คนเป็นทายาทโดยธรรมมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และตกลงว่าให้ใส่ชื่อนางแป้นในโฉนดแต่ห้ามโอนต่อไปและบุตรทุกคนมีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านดังกล่าว นางแป้นกลับโอนที่ดินและบ้านให้โจทก์แล้วยืมมือโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 อยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่บ้านพิพาทให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 50 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 นายป๊อก แพอ่อน นายห่อแพอ่อน และนางแป้น ทรัพย์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ เป็นบุตรของนายกล่อมกับนางเอม แพอ่อน เดิมนางเอมถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดตามฟ้องร่วมกับนางทิม นางคำ และนางผวน คนละส่วนเท่ากันที่ดินส่วนของนางเอม นายกล่อมและนางเอมได้ปลูกบ้านเลขที่ 36อยู่อาศัยร่วมกับบุตรทั้งสี่คน ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้แต่งงานกับจำเลยที่ 1 จึงร่วมกันปลูกบ้านอยู่โดยปลูกติดกับบ้านของนางเอม ใช้ระเบียงและบ้านเลขที่ 36 ร่วมกันตลอดมา นายกล่อมได้ถึงแก่ความตายไปก่อนนางเอม ก่อนนางเอมจะถึงแก่ความตายมิได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินและบ้านพิพาทไว้ แต่หลังจากนางเอมถึงแก่ความตายไปแล้วประมาณ 2 ปี นางแป้นมารดาโจทก์ได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินและบ้านพิพาทเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2491 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2524 นางแป้นได้จดทะเบียนยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมายจ.7 จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านพิพาท คงนำสืบแตกต่างกันโดยจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน นำสืบว่าที่ดินและบ้านพิพาทนางเอมไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ เมื่อนางเอมได้ถึงแก่ความตายไปแล้วประมาณ 1 เดือน ได้มีการปรึกษาระหว่างพี่น้องซึ่งเป็นบุตรของนางเอมตกลงให้ใส่ชื่อนางแป้นน้องคนสุดท้องซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ในโฉนดเพียงคนเดียวตามคำแนะนำของนางคำซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ แต่ห้ามโอนขายเพราะทุกคนมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ส่วนโจทก์นำสืบว่าระหว่างนางเอมยังมีชีวิตอยู่นางแป้นเป็นผู้ดูแลนางเอม นางเอมเคยพูดยกที่ดินและบ้านพิพาทให้นางแป้นคนเดียวพี่น้องของนางแป้นรวมทั้งจำเลยที่ 2 ก็ทราบเรื่องนี้ดี เมื่อนางเอมถึงแก่ความตาย นางแป้นจึงขอโอนรับมรดกใส่ชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทคนเดียว โดยพี่น้องทุกคนไม่ได้โต้แย้ง ต่อมานางแป้นได้ยกที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์
พิเคราะห์แล้ว ...ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางแป้นไปจดทะเบียนโอนรับมรดกที่ดินและบ้านพิพาทของนางเอมโดยใส่ชื่อนางแป้นคนเดียวนั้นเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนทายาทโดยธรรมทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 2ด้วย ที่ดินและบ้านพิพาทหลังที่เป็นมรดกของนางเอมจึงยังมิได้มีการแบ่งปันกันในระหว่างทายาทโดยธรรมของนางเอม นางแป้นไม่มีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินและบ้านพิพาทในส่วนมรดกที่ตกได้แก่ทายาทอื่นให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรนางแป้น โจทก์คงมีกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของนางแป้นที่รับมรดกจากนางเอมในฐานะทายาทโดยธรรมเท่านั้นมิใช่ได้กรรมสิทธิ์ทั้งหมด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนางเอม ย่อมมีสิทธิยึดถือครอบครองโดยอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทได้ จำเลยที่ 1 สามีจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ที่ 4บริวารของจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทด้วย เมื่อที่ดินและบ้านพิพาทยังเป็นทรัพย์มรดกอยู่ยังมิได้แบ่งปันกันโจทก์และจำเลยที่ 2 รวมทั้งทายาทอื่นจึงเป็นเจ้าของรวมโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่ได้..."
พิพากษายืน.