โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 83 และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสามจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท คำให้การของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมให้ความรู้แก่ศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 37 ปี 6 เดือน และปรับ 750,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด เป็นของกลาง ซุกซ่อนอยู่ในรถกระบะ บริเวณใต้เบาะที่นั่งข้างคนขับด้านซ้าย ซึ่งมีนายณัฐกรณ์เป็นคนขับ และนางสาวสุมินตรานั่งด้านข้างคนขับ ส่วนจำเลยทั้งสองนั่งอยู่ในแคปตอนหลัง เมทแอมเฟตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 22.927 กรัม ชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและต่อมามีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยทั้งสองให้การไว้ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดต่อซื้อขายหรือนัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลาง โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนของกลางบรรจุห่อหุ้มอย่างปกปิดมิดชิดในกระเป๋าส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจล่วงรู้พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แม้จะนั่งโดยสารมาในรถกระบะคันเดียวกันก็ตามนั้น ในข้อนี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกไพฑูรย์และดาบตำรวจไพรัตน์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นประจักษ์พยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายวุฒิชัยและนายกิตติพงษ์ผู้ต้องหาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษนายวุฒิชัยและนายกิตติพงษ์แจ้งพยานทั้งสองว่า สามารถติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ได้ เจ้าพนักงานตำรวจจึงวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด ในราคา 60,000 บาท จากจำเลยที่ 1 โดยนัดส่งมอบที่สถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ที่เกิดเหตุ ในวันที่ 23 มกราคม 2562 โดยจำเลยที่ 1 แจ้งว่าจะเดินทางมากับรถยนต์ของเพื่อน พยานทั้งสองได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้นเวลาประมาณ 2 นาฬิกา ของวันเกิดเหตุพยานทั้งสองพร้อมกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวนายวุฒิชัยและนายกิตติพงษ์ไปลอบซุ่มดูเหตุการณ์บริเวณดังกล่าวจนกระทั่งเวลาผ่านไป 30 นาที มีรถกระบะ แบบมีแคป สีดำ ซึ่งตรงกับลักษณะรถที่นายวุฒิชัยแจ้งแล่นมาจอดบริเวณที่เกิดเหตุร้อยตำรวจเอกไพฑูรย์จึงปล่อยนายนายวุฒิชัยเดินไปที่รถกระบะคันดังกล่าว พยานทั้งสองเห็นนายณัฐกรณ์คนขับรถกระบะเปิดประตูให้จำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งอยู่เบาะหลังลงจากรถจึงเข้าแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบจำเลยที่ 1 นั่งอยู่บริเวณเบาะด้านหลัง ส่วนนางสาวสุมินตรานั่งอยู่บริเวณเบาะด้านหน้าข้างคนขับ โดยมีกระเป๋าสะพายสีน้ำตาลสอดอยู่ใต้เบาะดังกล่าว ภายในกระเป๋าพบถุงพลาสติกสีฟ้า 2 ใบ ถุงพลาสติกสีชมพู 2 ใบ และถุงพลาสติกใส 2 ใบ บรรจุเมทแอมเฟตามีนรวม 1,000 เม็ด จากการสอบถามจำเลยทั้งสองยอมรับว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวเตรียมไว้เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ล่อซื้อ ส่วนนายณัฐกรณ์และนางสาวสุมินตราอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลาง และจำเลยทั้งสองยืนยันว่าบุคคลทั้งสองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พยานทั้งสองจึงแจ้งข้อกล่าวหาเฉพาะจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย และโจทก์ยังมีนางสาวสุมินตราเบิกความประกอบบันทึกคำให้การพยาน สนับสนุนว่า พยานได้ยินจำเลยทั้งสองสนทนากันภายในรถในทำนองว่ารอคนมารับ จำเลยหนึ่งในสองคนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อกับบุคคลปลายสายว่าจำเลยทั้งสองโดยสารมากับรถกระบะสีดำจอดรออยู่บริเวณหน้าชานชาลาแล้วนายณัฐกรณ์สอบถามจำเลยทั้งสองว่าจะลงจากรถเลยหรือไม่ จำเลยทั้งสองแจ้งนายณัฐกรณ์ว่ารอคนมารับก่อน หลังจากนั้นไม่เกิน 5 นาที เจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาแสดงตัวและขอตรวจค้นรถ เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกไพฑูรย์และดาบตำรวจไพรัตน์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง เป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ เบิกความสอดคล้องต้องกัน ไม่มีข้อพิรุธประการใด ทั้งขั้นตอนต่าง ๆ ในการจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นไปในระยะเวลาใกล้ชิดและต่อเนื่องกัน เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากจำเลยทั้งสองว่านายณัฐกรณ์และนางสาวสุมินตราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พยานทั้งสองก็แจ้งข้อหาเฉพาะจำเลยทั้งสองเท่านั้น สอดรับกับคำเบิกความของนางสาวสุมินตราซึ่งเดินทางร่วมมากับจำเลยทั้งสองยืนยันพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมเดินทางมายังจุดหมายปลายทางเดียวกัน มีการสนทนากันระหว่างจำเลยทั้งสองและมีการโทรศัพท์ติดต่อกับบุคคลปลายสายในทำนองแจ้งว่าจำเลยทั้งสองเดินทางมาด้วยกันหลังจากนั้นไม่นานมีเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมและตรวจค้นรถกระบะ เมื่อปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้น่าระแวงสงสัยว่าจะสร้างเรื่องกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับโทษ เชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริงที่รับรู้มา นอกจากนี้ยังได้ความจากบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองซึ่งให้การในวันเดียวกับวันที่จำเลยทั้งสองถูกจับกุมว่า จำเลยที่ 1 รับว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้นายวุฒิชัยจริง ซึ่งมิใช่เป็นการซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดโดยปัดความผิดไปให้จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวส่วนจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่าทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจริง และจำเลยทั้งสองยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเมทแอมเฟตามีนอย่างสอดคล้องต้องกัน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยทั้งสองโดยเฉพาะ ยากที่พนักงานสอบสวนจะปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นเองได้หากจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การไว้ เชื่อว่าจำเลยทั้งสองให้การไปตามเหตุการณ์ที่ตนประสบมาจริง เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าสามารถพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 และรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองดังกล่าวทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามมีน้ำหนักให้รับฟังมากยิ่งขึ้นด้วย แม้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดต่อล่อซื้อและนัดหมายในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์ประกอบพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยที่ 2 เดินทางร่วมกับจำเลยที่ 1 ในยามวิกาลไปยังจุดหมายเดียวกันซึ่งเป็นสถานที่ที่นัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลาง โดยการครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่มีโทษสูง ผู้กระทำผิดย่อมกระทำอย่างลับ ๆ เพื่อปกปิดไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 คงไม่ให้จำเลยที่ 2 ไปร่วมรู้เห็นด้วยเป็นแน่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เดินทางนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่นายวุฒิชัยที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้และฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงชื่อในภาพถ่ายประกอบการจับกุม ภาพถ่ายประกอบคดีและบัญชีของกลางคดีอาญา เป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 2 ยืนยันปฏิเสธความบริสุทธิ์มาโดยตลอดนั้น แต่เหตุใดจำเลยที่ 2 จึงลงมาจากรถเป็นคนแรกในทันทีที่นายวุฒิชัยผู้ติดต่อล่อซื้อเดินเข้าไปหาทั้งที่จำเลยที่ 2 อ้างในชั้นสอบสวนว่าไม่เคยรู้จักนายวุฒิชัยมาก่อน จำเลยที่ 2 คงมีเพียงตนเองเบิกความในชั้นพิจารณายืนยันว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งมาเบิกความยืนยันเป็นพยานจำเลยที่ 2 นั้น ก็เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันและรู้จักกันมาก่อน จึงอาจเบิกความช่วยเหลือกันก็เป็นได้ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 จริง จำเลยที่ 2 ก็น่าจะปฏิเสธความผิดของตนตั้งแต่ในชั้นจับกุม แต่จำเลยที่ 2 กลับแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจในขณะนั้นว่านายณัฐกรณ์และนางสาวสุมินตราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงไม่สมเหตุสมผล ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นสำหรับฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 4 ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดแทน แต่มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ยังคงให้บทบัญญัติที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายเดิมซึ่งถูกยกเลิกไปทั้งฉบับ มีผลใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับจนกว่าคดีถึงที่สุด บทสันนิษฐานตามกฎหมายเดิมในมาตรา 15 ที่ว่า การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณที่กำหนด เช่น แอมเฟตามีน คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป ให้สันนิษฐานว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงยังมีผลใช้บังคับต่อไปในคดีนี้ที่ยังไม่ถึงที่สุด
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อตามกฎหมายเดิม มาตรา 15ประกอบมาตรา 66 บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาเพียงปริมาณของยาเสพติดเป็นสำคัญแต่กฎหมายใหม่ มาตรา 145 บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ในการกระทำผิดเป็นสำคัญ ไม่ได้ถือเอาเพียงปริมาณดังเช่นกฎหมายเดิมอีกต่อไป แม้ปริมาณที่มากขึ้นอาจบ่งชี้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ได้ระดับหนึ่งก็ตาม เมื่อปริมาณยาเสพติดที่มากขึ้นอาจบ่งชี้ได้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่อยู่ในตัว กฎหมายใหม่จึงไม่ได้ยกเลิกความผิดตามมาตรา 66 วรรคสองและวรรคสาม ไปเสียทีเดียว แต่เมื่อกฎหมายใหม่ไม่ได้ให้ศาลลงโทษหนักขึ้นเพียงเพราะปริมาณยาเสพติดให้โทษดังเช่นในกฎหมายเดิม แต่ต้องมีพฤติการณ์และบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายใหม่กำหนดไว้ด้วย จึงจะมีความผิดตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสามได้ ดังนั้น ถ้าผู้กระทำผิดมีพฤติการณ์หรือบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดตามมาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ได้ แต่ถ้ายาเสพติดให้โทษมีปริมาณถึงตามกฎหมายเดิมมาตรา 66 วรรคสองหรือวรรคสาม แต่ผู้กระทำผิดไม่มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลย่อมไม่อาจปรับบทความผิดตามมาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสามได้ คงปรับบทความผิดได้เพียงตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ส่วนการกำหนดโทษก็ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณทั้งกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ไม่ว่าในทางใด ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ซึ่งเมื่อพิจารณาว่าจะปรับบทความผิดแก่จำเลยทั้งสองในคดีนี้ตามวรรคใดในสามวรรคของกฎหมายใหม่ มาตรา 145 อันขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไปนั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ต้องหาในคดียาเสพติดคดีอื่นแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 1 จึงมีการล่อซื้อและจับจำเลยทั้งสองได้ในรถกระบะพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง 1,000 เม็ด ที่จำเลยทั้งสองมาส่งตามที่มีการล่อซื้อ ในราคา 60,000 บาท พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ผู้ต้องหาดังกล่าว และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ผู้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนที่จำหน่ายให้ผู้ต้องหาดังกล่าวกับที่จำหน่ายให้ผู้ล่อซื้ออีก 1,000 เม็ด ย่อมทำให้เกิดการแพร่กระจายแก่ผู้เสพหลายคนโดยสภาพ ถือเป็นการกระทำให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนแล้ว กรณีจึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายใหม่ มาตรา 90, 145 วรรคสอง (2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี อันเป็นบทกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองที่มีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 22.927 กรัม เข้าตามกฎหมายเดิมตามมาตรา 66 วรรคสาม ที่มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต สำหรับโทษปรับ ก็ต้องลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสอง (2) ซึ่งมีระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท อันเป็นคุณกว่าตามกฎหมายเดิม มาตรา 66 วรรคสาม ที่มีระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ทั้งเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 213 และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 90, 145 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 15 ปี และปรับคนละ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน และปรับ 500,000 บาท จำเลยที่ 2 คงจำคุก 11 ปี 3 เดือน และปรับ 750,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์