โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 47, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 13, 17 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางทั้งหมด และจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีไม้ประดู่แปรรูป 30 แผ่น/ชิ้น ปริมาตร 0.26 ลูกบาศก์เมตร ไม้รังแปรรูป 11 แผ่น/ชิ้น ปริมาตร 0.16 ลูกบาศก์เมตร ไม้แดง 5 ท่อน ปริมาตร 0.81 ลูกบาศก์เมตร และไม้ประดู่ 1 ท่อน ปริมาตร 0.19 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครอง ส่วนไม้แปรรูปและไม้ท่อนจำนวนอื่นและข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนการแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 เดือน ฐานเป็นผู้สนับสนุนการทำไม้หวงหวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 12 เดือน ริบของกลางทั้งหมด ข้อหาอื่นให้ยกและยกคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยคงมีความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานเป็นผู้สนับสนุนการทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานเป็นผู้สนับสนุนการแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต รวม 5 กระทง
ในชั้นนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาด้วยการลดโทษให้บางส่วนหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพว่า มีไม้ประดู่แปรรูป 30 แผ่น/ชิ้น ปริมาตร 0.26 ลูกบาศก์เมตรและไม้รังแปรรูป 11 แผ่น/ชิ้น ปริมาตร 0.16 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองจริง ส่วนฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพว่า มีไม้แดง 5 ท่อน ปริมาตร 0.81 ลูกบาศก์เมตร และไม้ประดู่ 1 ท่อน ปริมาตร 0.19 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองจริง นับว่าคำให้การดังกล่าวของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 สมควรลดโทษให้จำเลยบางส่วน ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ลดโทษให้จำเลยในความผิดสองฐานนี้ จึงยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี นอกจากนี้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยยอมรับว่ากระทำความผิดทุกกระทงจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้จำเลยไม่อาจแก้ไขคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์ได้ เนื่องจากต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง แต่ถือได้ว่าจำเลยยอมสละข้อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ด้วยการยอมรับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นคนร้ายอีกหรือไม่ต่อไป กรณีถือได้ว่าเป็นการให้ความรู้แก่ศาล อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอย่างหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จึงมีเหตุสมควรลดโทษให้จำเลยบางส่วน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ลดโทษให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น โดยศาลฎีกาเห็นสมควรลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามทุกกระทง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นภริยานายไพรัตน์ ไม่ได้ร่วมทำไม้และแปรรูปไม้ของกลางโดยตรง ทั้งไม่มีพฤติการณ์เป็นนายทุนหรือนำไม้มาเพื่อขายแสวงหากำไร แต่ประสงค์จะนำไม้ของกลางมาสร้างบ้านพักอาศัยอยู่กับครอบครัวเท่านั้น ประกอบกับไม้ของกลางเป็นไม้แดง ไม้ประดู่ และไม้รัง มีปริมาตรรวมกันเพียง 1 ลูกบาศก์เมตรเศษ การกระทำความผิดของจำเลยจึงไม่ร้ายแรงนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงดูครอบครัวมาโดยตลอด และมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ 2 คน ซึ่งบุตรคนเล็กอายุ 6 ขวบ มีปัญหาทางสมอง จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ตามสำเนาใบรับรองของแพทย์แนบท้ายฎีกา ประกอบกับคดีที่นายไพรัตน์ สามีจำเลยถูกฟ้องในข้อหาเดียวกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.906/2563 ของศาลชั้นต้น ที่แนบมาท้ายฎีกา ซึ่งโจทก์ไม่ได้แก้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ในระหว่างฎีกา จำเลยได้สำนึกผิดและบรรเทาผลร้ายในการกระทำของตน ด้วยการนำเงินมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมป่าไม้ จำนวน 66,975 บาท ตามรูปคดีจึงมีเหตุสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษจำคุกไว้สักครั้งหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยและสังคมส่วนรวมมากกว่าการลงโทษจำคุกไปเสียทีเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นเช่นกัน แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำไม่หวนกลับไปกระทำความผิดอีก จึงเห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งทุกกระทง และกำหนดเงื่อนไขในการคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย เนื่องจากคดีนี้มีผู้นำจับและโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลสั่งจ่ายสินบนนำจับตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 จัตวา และพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 13 มาด้วย ดังนั้นเมื่อศาลฎีกาพิพากษาลงโทษปรับจำเลยทุกกระทง จึงต้องสั่งจ่ายสินบนนำจับตามคำขอของโจทก์ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ฐานเป็นผู้สนับสนุนการทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท ฐานเป็นผู้สนับสนุนการแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามทุกกระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตคงจำคุก 8 เดือน และปรับ 13,333.33 บาท ฐานเป็นผู้สนับสนุนการทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 2 เดือน 20 วัน และปรับ 13,333.33 บาท ฐานเป็นผู้สนับสนุนการแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 5 เดือน 10 วัน และปรับ 13,333.33 บาท ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตคงจำคุก 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท รวม 5 กระทง จำคุก 32 เดือน และปรับ 79,999.99 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ รักษา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 จัตวา และพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 13 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3