โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 74 ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด ข้อ 1 และข้อ 2 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้ว เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด เป็นความผิดต่อรัฐ โจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาโดยสรุปว่า จำเลยทั้งสองรับรู้บันทึกข้อความเสียงสนทนาทางโทรศัพท์อันเป็นการสื่อสารทางโทรคมนาคมระหว่างโจทก์กับนายพิมลจากนายพิมล โดยจำเลยที่ 1 นำข้อความดังกล่าวไปเปิดเผยแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเปิดเผยข้อความดังกล่าวแก่ทนายความของจำเลยทั้งสองและพนักงานสอบสวนโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องได้ จึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป แต่ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์นั้น เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเสียก่อนว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 74 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด ข้อ 1 และข้อ 2 หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด มีเจตนารมณ์เพื่อให้รัฐควบคุมและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของประชาชน อันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้การรับรองและคุ้มครองไว้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย รักษาความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศ อันเป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม มิได้มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองบุคคลใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ความผิดตามบทบัญญัติทั้งสองจึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายและมีหน้าที่ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษตามบทบัญญัติทั้งสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้?ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดและพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล เมื่อฟังได้ดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไปอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน