ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่านายบุญเลียงเป็นคนสาบสูญ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญเลียง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า นายบุญเลียงเป็นคนสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 ประกาศคำสั่งในราชกิจการนุเบกษา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตแต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของนายบุญเลียงกับขอให้ศาลสั่งให้นายบุญเลียงเป็นคนสาบสูญพร้อมกันได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 และมาตรา 62 การที่จะถือว่าบุคคลใดถึงแก่ความตายเพราะเหตุที่บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปีจะต้องมีคำสั่งของศาลให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญเสียก่อน และการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้ (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย..." หมายความว่าในขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกต้องปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอและตามทางไต่สวนได้ความว่า ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของนายบุญเลียง ศาลยังมิได้มีคำสั่งว่านายบุญเลียงเป็นคนสาบสูญ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของนายบุญเลียงมาพร้อมกับขอให้ศาลสั่งให้นายบุญเลียงเป็นคนสาบสูญ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอจัดการมรดกนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ