โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83, 84, 60, 80, 33, 32 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสมควร มารดาของนายอนันต์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 84)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 84, 288 ประกอบมาตรา 80 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 84 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต ของกลางริบ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา โต้แย้งฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายอนันต์ผู้ตายขับรถยนต์กระบะไปตามถนนสายเลียบคลองหกวาเพื่อกลับบ้านที่คลอง 11 โดยมีนายสามัญ ผู้เสียหายนั่งคู่กันไปที่เบาะหน้า เมื่อถึงทางโค้งก่อนข้ามทางรถไฟอันเป็นที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์แซงหน้าเรียกให้ผู้ตายหยุดรถ ผู้ตายจอดรถและลดกระจกด้านข้างคนขับลงแล้วเกิดการต่อว่ากัน ในช่วงนั้นมีคนร้ายขับรถจักรยานยนต์มาจอดข้างประตูรถด้านคนขับและใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายหลายนัด กระสุนปืนถูกผู้ตายที่กกหูขวา หน้าผากขวา ฝ่ามือขวา นิ้วก้อยมือซ้ายและกรามซ้ายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และกระสุนปืนยังถูกผู้เสียหายที่ศอกขวา หน้าแข้งซ้ายและหน้าท้องด้านขวาได้รับอันตรายสาหัส สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ จึงเป็นยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้คนร้ายกระทำความผิดฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุเล็กน้อยผู้ตายขับรถผ่านหน้าบ้านจำเลยที่ 1 มีสุนัขเห่าและวิ่งตามรถ ผู้ตายหยุดรถและตะโกนด่าสุนัขว่ามึงดุนักหรือ จากนั้นก็ขับรถต่อไปผ่านบ้านนายบุญส่งหรือวัลย์ พี่ชายจำเลยที่ 2 เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์แซงขวางหน้าให้ผู้ตายหยุดรถแล้วพูดกับผู้ตายว่า เมื่อสักครู่มึงพูดอะไร ผู้ตายตอบว่า ไม่ได้ว่าใครแต่ว่าสุนัข ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นนายบุญส่งขับรถจักรยานยนต์มาจอดข้างผู้ตายโดยมีจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งตามมาจอดหลังรถนายบุญส่ง นายบุญส่งพูดกับผู้ตายว่าเมื่อสักครู่มึงขับรถฝุ่นเข้าบ้านกู แล้วนายบุญส่งชักอาวุธปืนออกมาเล็งไปที่ผู้ตาย จำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงเลยๆ นายบุญส่งใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายประมาณ 7 ถึง 8 นัด ผู้ตายฟุบลงที่พวงมาลัยรถ จากนั้นจำเลยทั้งสองและนายบุญส่งขับรถจักรยานยนต์หนีไป ผู้เสียหายโทรศัพท์บอกนายมาโนช พี่ชายผู้ตายให้มานำผู้เสียหายและผู้ตายส่งโรงพยาบาล เห็นว่า บ้านของผู้เสียหายอยู่ห่างจากบ้านของจำเลยที่ 2 ประมาณ 3 กิโลเมตร ผู้เสียหายเคยไปเที่ยวที่ละแวกบ้านของจำเลยที่ 2 และรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน ขณะเกิดเหตุนายบุญส่งขับรถจักรยานยนต์มาจอดข้างผู้ตายแล้วพูดว่า เมื่อสักครู่มึงขับรถฝุ่นเข้าบ้านกู ซึ่งเป็นการพูดต่อว่าลักษณะหาเรื่อง ผู้เสียหายซึ่งนั่งอยู่กับผู้ตายย่อมมีความตื่นตัวและระวังสังเกตตามปกติวิสัย การที่จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ตามมาจอดท้ายรถนายบุญส่งในช่วงเวลาเดียวกันจึงอยู่ในความสังเกตของผู้เสียหาย และนับแต่นายบุญส่งกับจำเลยที่ 2 มาที่เกิดเหตุจนกระทั่งนายบุญส่งใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็เป็นระยะเวลาช่วงหนึ่งที่ผู้เสียหายมีโอกาสเห็นจำเลยที่ 2 ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 17 นาฬิกา มีแสงสว่างเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน เมื่อนายบุญส่งชักอาวุธปืนเล็งไปที่ผู้ตาย ช่วงนั้นผู้เสียหายอยู่ห่างจากจำเลยที่ 2 ประมาณ 4 เมตร ไม่ไกลนัก ผู้เสียหายย่อมได้ยินถ้อยคำที่จำเลยที่ 2 พูด หลังเกิดเหตุผู้เสียหายให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าจำเลยที่ 2 บอกนายบุญส่งว่า ยิงเลยๆ ซึ่งในข้อนี้พันตำรวจตรียงยุทธ พนักงานสอบสวนและสิบตำรวจเอกพรชัย พยานโจทก์และโจทก์ร่วมก็เบิกความรับรองสอดคล้องกัน นอกจากนั้นแล้วหลังเกิดเหตุประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้เสียหายชี้สำเนาภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 ว่าเป็นผู้พูดว่ายิงเลยๆ ในขณะเกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.10 ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 มอบตัว ผู้เสียหายก็ไปชี้ตัวจำเลยที่ 2 ยืนยันอีกว่าเป็นผู้พูดว่า ยิงเลยๆ ตามเอกสารหมาย จ.11 แม้ผู้เสียหายจะเบิกความแตกต่างจากพันตำรวจตรียงยุทธและสิบตำรวจเอกพรชัยเกี่ยวกับวันที่ที่ให้การ โดยผู้เสียหายให้การว่าหลังเกิดเหตุ 2 วัน แต่พันตำรวจตรียงยุทธและสิบตำรวจเอกพรชัยว่าผู้เสียหายให้การในวันเกิดเหตุ แต่ก็ได้ความจากผู้เสียหาย พันตำรวจตรียงยุทธและสิบตำรวจเอกพรชัยตรงกันว่า ผู้เสียหายให้การในลักษณะดังกล่าวในโอกาสแรกที่ผู้เสียหายพบเจ้าพนักงานตำรวจ ข้อแตกต่างดังกล่าวจึงเป็นรายละเอียดเล็กน้อย ส่วนแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.6 ไม่ระบุจุดที่จำเลยที่ 2 อยู่ขณะเกิดเหตุนั้น เมื่อปรากฏว่าพันตำรวจตรียงยุทธพนักงานสอบสวนทราบถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุจากคำให้การของผู้เสียหายแล้ว การไม่ระบุจุดที่จำเลยที่ 2 อยู่ลงในเอกสารจึงเป็นเรื่องของพันตำรวจตรียงยุทธผู้ทำเอกสารซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากความพลั้งเผลอ ไม่ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายมีข้อพิรุธ และที่ผู้เสียหายเคยให้การต่อพันตำรวจตรียงยุทธกับสิบตำรวจเอกพรชัยในชั้นแรกว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้พูดถ้อยคำดังกล่าวด้วย แต่ต่อมากลับเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้พูดนั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายไม่มั่นใจว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้พูดถ้อยคำนั้นกับจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ทราบหรือไม่แน่ใจว่าจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 เป็นผู้พูดไม่ เพราะผู้เสียหายยังคงเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 2 พูด ดังนั้น แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์เพียงปากเดียวคือผู้เสียหาย แต่คำเบิกความของผู้เสียหายมีเหตุผลและสอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจตรียงยุทธกับสิบตำรวจเอกพรชัยในสาระสำคัญ ทั้งไม่มีเหตุที่ผู้เสียหายจะต้องกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 2 คำเบิกความของผู้เสียหายจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ก็เป็นคนละเวลากับขณะเกิดเหตุเชื่อว่าขณะนายบุญส่งใช้อาวุธปืนเล็งไปที่ผู้ตาย จำเลยที่ 2 พูดกับนายบุญส่งว่ายิงเลยๆ แล้วนายบุญส่งใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการยุยงส่งเสริมให้นายบุญส่งใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย เมื่อนายบุญส่งใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายและกระสุนปืนยังถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288, 80, 60 ประกอบมาตรา 84 และการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แต่ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้นหนักเกินไป สมควรวางโทษใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ในการกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288, 80, 60 ประกอบมาตรา 84 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 84 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2