ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองปรปักษ์และผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ในที่ดิน: ศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นกรรมสิทธิ์และการครอบครอง
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์รับโอนที่พิพาทมาโดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทนเพราะโจทก์ทราบดีอยู่แล้วในขณะรับโอนว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทมานานกว่า 20 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่จำเลยกลับนำสืบว่า เดิมที่พิพาทเป็นของ ด.ย่าของจำเลยด. มีที่ดินอยู่2 แปลง คือที่พิพาทและที่ดิน ส.ค.1 ซึ่งเป็นที่ป่า ที่ดิน ส.ค.1ซึ่งเป็นที่ป่านั้น เดิมจำเลยเข้าใจว่าเป็นที่ดินมีโฉนด ส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด จำเลยเข้าใจว่าเป็นที่ดิน ส.ค.1 ที่ดินส.ค.1 ซึ่งเป็นที่ป่า ย. บิดาจำเลยได้โอนให้แก่ น. ดังนี้การที่จำเลยนำสืบว่า ที่ดินที่ น.เจ้ามรดกซื้อมาจาก ย. บิดาจำเลย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2480 เป็นที่ป่าคนละแปลงกับที่พิพาทและการที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบว่ากรณีเช่นนี้จึงน่าเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญผิดกัน คือ ย. ตกลงขายที่ดินที่เป็นที่ป่าให้แก่ น. จึงเป็นเรื่องสำคัญผิดในหลักฐานของที่ดิน น.ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินป่าแปลงนั้น หาได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทไม่ กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทยังเป็นของ ย.อยู่เมื่อย. ตายที่พิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้เพียงข้อเดียวว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นข้อนี้ย่อมครอบคลุมไปถึงปัญหาว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายหรือไม่ และโจทก์รับซื้อที่พิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ด้วย แม้ว่าปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยมา คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยไปเสียเองทีเดียวได้แล้วก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัยได้ หากผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความ