ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินทั้ง 7 รายการ ดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
ศาลชั้นต้นสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและคืนรถยนต์ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านที่ 1
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินรวม 7 รายการ ได้แก่ 1. เงินสด 50,000 บาท 2.รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ฮ. 3. รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ย. 4. รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ฮ. 5. เงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 2 6. รถยนต์ยี่ห้อ ฮ. และ 7. ที่ดินโฉนดเลขที่ 28127 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29 และ 31
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของนายสมาน และเป็นพี่ของนายสัญญา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายปรีชาและผู้คัดค้านที่ 2 พร้อมทั้งยึดเมทแอมเฟตามีน ชนิดเม็ด 2,800 เม็ด และชนิดเกล็ดสีขาว 9 ถุง น้ำหนักประมาณ 68.39 กรัม เป็นของกลาง และยึดทรัพย์สินหลายรายการ ผู้ร้องได้ฟ้องบุคคลทั้งสองเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 457/2560 ของศาลชั้นต้น ในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย นายปรีชาซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่านายปรีชากระทำความผิดตามฟ้องให้จำคุก 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท และให้ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1998/2560 ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของนายปรีชารวม 7 รายการ ดังนี้ รายการที่ 1. เงินสด 50,000 บาท รายการที่ 2. รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ฮ. รายการที่ 3. รถจักรยายนต์ ยี่ห้อ ย. รายการที่ 4. รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ฮ. รายการที่ 5. เงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ รายการที่ 6 รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อ ฮ. และรายการที่ 7. ที่ดินโฉนดเลขที่ 28127 โดยเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของนายปรีชาที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทรัพย์สินรายการที่ 4 รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ฮ. เป็นทรัพย์สินของนายปรีชาที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนทรัพย์สินรายการที่ 6 รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อ ฮ. ซึ่งผู้ถือกรรมสิทธิ์คือผู้คัดค้านที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าเป็นทรัพย์สินของนายปรีชาที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ริบและให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เมื่อศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
เนื่องจากในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับและมีผลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยมาตรา 4 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 และให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดแทน ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ภาค 1 ลักษณะ 4 ยังคงมีมาตรการในการตรวจสอบทรัพย์สินและขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด โดยหลักเกณฑ์บางอย่างแตกต่างจากกฎหมายเดิม จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า จะต้องนำประมวลกฎหมายยาเสพติดมาใช้บังคับแก่คดีนี้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 12 บัญญัติว่า "บรรดาคดีที่ได้มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติใช้บังคับ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานอัยการ และศาล ดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด" ดังนั้น กรณีที่มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมายเดิมก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับและค้างการพิจารณาอยู่ไม่ว่าในชั้นใด ก็ต้องดำเนินการต่อไปตามกฎหมายเดิมจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อคดีนี้มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินมาตั้งแต่ปี 2561 ก่อนประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับ จึงต้องพิจารณาพิพากษาต่อไปตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเสพติด พ.ศ.2534
ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกามีว่า เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้คัดค้าน 2 ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงนั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ เห็นว่า ตามคำวินิจฉัยที่ 486/2561 ของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 และคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ 514/2561 เรื่องให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ลงวันที่ 25 เมษายน 2561 ระบุชัดเจนว่า เป็นการตรวจสอบทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการที่นายปรีชา ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และสั่งยึดอายัดทรัพย์สิน 7 รายการ ในคดีนี้ในฐานะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายปรีชา ไม่ใช่ของผู้คัดค้านที่ 2 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่มีผลให้คำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินทั้ง 7 รายการ ดังกล่าวในฐานะที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายปรีชาสิ้นสุดลง กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่สิ้นสุดลงจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ในประการสุดท้ายมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 และให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 3 คือ รถจักยานยนต์ ยี่ห้อ ย. ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 2 มิได้อ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินดังกล่าวแต่เป็นของนายสัญญา ซึ่งเป็นน้องของผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมไม่อาจขอให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (1) ซึ่งฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ว่าไม่ชอบอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนทรัพย์สินรายการที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายปรีชาและผู้คัดค้านที่ 2 ได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี โดยผู้คัดค้านที่ 2 ช่วยนายสมานบิดาทำมาหาได้ร่วมกัน นายสมานขายที่ดินมรดกและขายโคแล้วมอบเงินส่วนหนึ่งให้ ผู้คัดค้านที่ 2 จึงนำไปซื้อที่ดินและปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินรายการที่ 7 ส่วนทรัพย์สินรายการที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ที่เป็นเงินสด รถจักรยานยนต์ และเงินฝากธนาคารพยานหลักฐานในคดีน่าจะฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของที่แท้จริงเช่นกัน ทางไต่สวนผู้ร้องมีร้อยตำรวจเอกสิรภาพ ผู้ร่วมจับกุมนายปรีชาและผู้คัดค้านที่ 2 กับมีนางสาวชนิศา ผู้ตรวจสอบทรัพย์สินซึ่งได้สอบปากคำนายปรีชาและผู้คัดค้านที่ 2 มาเบิกความเป็นพยานได้ความตรงกันว่า นายปรีชากับผู้คัดค้านที่ 2 คบหาและอยู่กินฉันสามีภริยามาก่อนที่จะถูกจับกุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 ในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร้อยตำรวจเอกสิรภพเบิกความว่า พยานกับพวกจับกุมนายปรีชาและผู้คัดค้านที่ 2 ได้ที่บ้าน พร้อมยาเสพติดให้โทษของกลางในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1998/2550 ของศาลชั้นต้น รวมทั้งยึดทรัพย์สินรายการที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 และทรัพย์สินอื่นอีกหลายรายการได้ที่บ้านดังกล่าว ซึ่งบุคคลทั้งสองรับว่าเป็นบ้านที่ใช้อาศัยอยู่กินฉันสามีภริยากัน ในชั้นจับกุม นายปรีชายังรับว่านำเงินที่ได้จากการจำหน่ายยาเสพติดบางส่วนไปซื้อทรัพย์สินที่ถูกยึดเป็นของกลางซึ่งรวมถึงทรัพย์สินรายการที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 รับว่าทรัพย์สินรายการที่ 1 และที่ 5 ได้มาจากการค้ายาเสพติด ในชั้นตรวจสอบทรัพย์สิน ได้ความจากนางสาวชนิศาว่า ทรัพย์สินรายการที่ 1 เงินสด 50,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ให้ถ้อยคำว่าเป็นเงินของตนเองที่ได้รับจากบิดา แต่นายปรีชากลับชี้แจงว่าเป็นเงินของนางพู่นำมาฝากให้นายปรีชาไปไถ่ทองรูปพรรณที่นางพู่นำไปจำนำไว้ ซึ่งขัดกันและจากการตรวจสอบไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 2 ประกอบอาชีพใดเป็นกิจจะลักษณะ ไม่มีหลักฐานการได้รับเงินค่าขายโคซึ่งอ้างว่าเป็นที่มาของรายได้ที่นำไปซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ และทรัพย์สินรายการที่ 5 ซึ่งเป็นเงินฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารปรากฏรายการเงินฝากเข้ามากและถี่ไม่สัมพันธ์กับรายได้ เห็นว่า คดีนี้เจ้าพนักงานยึดทรัพย์สินทั้ง 4 รายการ ดังกล่าวได้พร้อมกับยาเสพติดให้โทษที่บ้านซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 อาศัยอยู่กินกับนายปรีชาและได้ความจากร้อยตำรวจเอกสิรภพว่า ขณะเข้าจับกุมนายปรีชากำลังนั่งนับเมทแอมเฟตามีนอยู่ภายในห้อง แสดงว่านายปรีชาใช้บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ทั้งนายปรีชายอมรับว่าทรัพย์สินเหล่านั้นได้มาจากการค้ายาเสพติด ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ก็รับว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดเช่นกัน เพียงแต่ปฏิเสธว่าไม่รวมทรัพย์สินรายการที่ 2 กับที่ 7 แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ให้โอกาสชี้แจงในชั้นของการตรวจสอบทรัพย์สิน ผู้คัดค้านที่ 2 กลับไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าตนเองมีรายได้เพียงพอที่จะซื้อทรัพย์สินเหล่านั้นได้ และที่อ้างว่าได้เงินจากการที่นายสมานขายโคและที่ดินมรดกแล้วแบ่งเงินให้ ผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ มาแสดง คดีของผู้ร้องมีมูลว่าทรัพย์สินดังกล่าว 4 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายปรีชา
ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 2 จะขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 มีหน้าที่นำสืบแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงซึ่งทรัพย์สินนั้นและทรัพย์สินดังกล่าวไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายปรีชา ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (1) ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานถึงที่มาของเงินที่ตนนำไปซื้อทรัพย์สินดังกล่าวว่า เดิมผู้คัดค้านที่ 2 มีรายได้จากการช่วยนายสมานบิดาทำนาร่วมกับพี่น้องของผู้คัดค้านที่ 2 มีรายได้ปีละประมาณ 300,000 บาท ถึง 400,000 บาท ซึ่งนายสมานเบิกความเป็นพยานของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ตนเองมีรายได้สุทธิจากการทำนาเพียงปีละ 100,000 บาท และมีอาชีพเลี้ยงโคเนื้อด้วย ทั้งอ้างว่าได้ขายโคทั้งหมดไปในปี 2557 ได้เงิน 630,000 บาท มอบเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 500,000 บาท และในปี 2558 ผู้คัดค้านที่ 2 นำเงิน 200,000 บาท ไปซื้อที่ดิน ทรัพย์สินรายการที่ 7 และจ้างช่างมาปลูกสร้างบ้านบนที่ดินดังกล่าวเสียเงินอีกประมาณ 200,000 บาท เงินที่เหลือนำไปซื้อรถจักรยานยนต์ ทรัพย์สินรายการที่ 2 ฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทรัพย์สินรายการที่ 5 และเก็บเป็นเงินสดไว้ที่บ้านอีก 50,000 บาท ทรัพย์สินรายการที่ 1 เห็นว่า ที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าที่มาของทรัพย์สินทั้ง 4 รายการ มาจากเงินที่นายสมานขายโคแล้วมอบให้ 500,000 บาท นั้น แม้จะมีนายสมานมาเบิกความยืนยันว่าขายโคได้เงินมากถึง 630,000 บาท ก็ตาม แต่เป็นการเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานการได้รับเงินหรือนำเงินเหล่านั้นไปฝากธนาคารมายืนยัน ข้อเท็จจริงจึงยังฟังเป็นยุติไม่ได้ว่า นายสมานมีรายได้จากการขายโคหรือที่ดินมรดกดังที่เบิกความ และที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่านายสมานขายโคได้เงิน 630,000 บาท และมอบเงินให้ตนเองถึง 500,000 บาท ก็ยิ่งไม่น่าเชื่อถือเพราะนายสมานมีภริยาและบุตรอีกสองคน หลังขายโคนายสมานไม่ได้ทำนาอีกและภริยามีรายได้เดือนละไม่ถึง 5,000 บาท ไม่น่าเป็นไปได้ที่นายสมานจะให้เงินเกือบทั้งหมดแก่ผู้คัดค้านที่ 2 โดยไม่แบ่งให้บุตรคนอื่นและไม่กันเงินไว้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในช่วงชราภาพ ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการนำเงิน 500,000 บาท ที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าได้รับจากนายสมานฝากเข้าบัญชีธนาคารแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 2 เบิกความว่า หลังจากเลิกทำนาในปี 2557 ผู้คัดค้านที่ 2 มีอาชีพรับจ้างทั่วไปรายได้วันละ 300 บาท แต่ไม่ได้รับจ้างทุกวันและมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 5,000 บาท พยานหลักฐานตามทางไต่สวนเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีรายได้พอที่จะซื้อและเป็นเจ้าของทรัพย์สินรายการที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่านายปรีชาเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวและเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบทรัพย์สินทั้ง 4 รายการดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน