โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นของบริษัท ช. ลงในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นพร้อมรายการจดทะเบียนของบริษัท ช. ให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์กลับคืนสู่สถานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. จำนวน 6,868 หุ้น แบ่งเป็นหุ้นกลุ่ม ก จำนวน 2,000 หุ้น หมายเลขหุ้น 00000 (ที่ถูก 00001) ถึง 02000 และหุ้นกลุ่ม ข จำนวน 4,686 (ที่ถูก 4,868) หุ้น หมายเลขหุ้น 02001 ถึง 06686 (ที่ถูก 06868) ตามเดิม รวมทั้งดำเนินการเอาชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ช. และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ช. ใหม่ โดยให้นายคริสโตเฟอร์มีชื่อกลับคืนสู่ฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ช. ตามเดิม ทั้งนี้จนกว่าจะมีการประชุมตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท ช. เพื่อให้ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งกรรมการคนใหม่โดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยไม่ดำเนินการดังกล่าวข้างต้นให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับแก่จำเลยทั้งสามไม่ว่าเพราะเหตุใดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย 3,434,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบกิจการของบริษัท ช. ในสภาพที่เป็นอยู่ก่อนมีการจดทะเบียนแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ให้แก่กรรมการบริษัทชุดเดิม หากจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดภายใต้กฎหมายกิจการบริษัทของหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เดิมโจทก์มีนายคริสโตเฟอร์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและเป็นผู้ถือหุ้นเพียงผู้เดียว นายริชาร์ด และนายโรบิน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายคริสโตเฟอร์และเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิเข้าเป็นกรรมการกระทำการแทนโจทก์และเป็นผู้ถือหุ้นแทนนายคริสโตเฟอร์ตามกฎหมายดังกล่าว นายริชาร์ดและนายโรบินเป็นผู้จัดการมรดกของนายคริสโตเฟอร์ตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 33/2561 ในการดำเนินคดีนี้นายริชาร์ดและนายโรบินมอบอำนาจให้บริษัท ฮ. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทน และบริษัท ฮ. มอบอำนาจช่วงให้นายพงษ์ศักดิ์ เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ เดิมโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นพิพาทของบริษัท ช. จำนวน 6,868 หุ้น ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น 5,000 หุ้น และมีนายคริสโตเฟอร์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวเพียงผู้เดียว เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2560 นายคริสโตเฟอร์ถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุหัวใจวายเฉียบพลัน ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2560 มีการจดแจ้งเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นพิพาท จำนวน 6,868 หุ้น ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือหุ้นคนละ 2,500 หุ้น โดยรับโอนจากจำเลยที่ 1 และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวจากนายคริสโตเฟอร์เป็นจำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นที่ตนเองถือครองให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ไม่กระทบต่อสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนการโอนหุ้นในส่วนนี้และพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งคู่ความที่เกี่ยวข้องมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ฎีกากล่าวอ้างว่าบริษัท ฮ.เป็นบริษัทที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและประกอบธุรกิจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย อันจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างนั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีการนำสืบกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลจะหยิบยกข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 เพียงกล่าวอ้างมาในชั้นฎีกามารับฟังไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่เคยนำสืบว่าบริษัท ฮ. เป็นบริษัทที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและประกอบธุรกิจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายอย่างไร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย อันเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อมาว่า จำเลยที่ 1 ได้รับโอนหุ้นพิพาทจากโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาลายมือชื่อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นลายมือชื่อของนายคริสโตเฟอร์ในสำเนาสัญญาโอนหุ้นเอกสารหมาย ล.3 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อของนายคริสโตเฟอร์ที่ปรากฏในสำเนาหนังสือเดินทาง สำเนาพินัยกรรม และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แล้ว จะเห็นได้ว่ามีลักษณะแตกต่างกัน โดยลายมือชื่อนายคริสโตเฟอร์ที่ปรากฏในสำเนาหนังสือเดินทาง สำเนาพินัยกรรม และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นมีลายเส้นวนทับกันบริเวณกลางลายมือชื่อจนมีสีเข้มกว่าลายมือชื่อส่วนอื่น ส่วนลายมือชื่อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นลายมือชื่อของนายคริสโตเฟอร์ในสำเนาสัญญาโอนหุ้นแม้จะมีลายเส้นวนคล้ายคลึงกันแต่มิได้วนทับกันบริเวณกลางลายมือชื่อจนมีสีเข้มกว่าลายมือชื่อส่วนอื่นแต่อย่างใด ซึ่งแม้ลายมือชื่อของบุคคลคนหนึ่งอาจแตกต่างกันได้บ้างตามแต่ละช่วงเวลา ทั้งอาจมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้แตกต่าง เช่น สุขภาพและวัย แต่จุดเด่นและลักษณะพิเศษของลายมือชื่อควรจะต้องเป็นเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากลายมือชื่อของนายคริสโตเฟอร์ซึ่งปรากฏในสำเนาพินัยกรรมที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2546 และในสำเนาหนังสือเดินทางที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งแม้นายคริสโตเฟอร์ได้ลงลายมือชื่อไว้ก่อนการลงลายมือชื่อในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ทำเมื่อปี 2559 เป็นระยะเวลาถึง 13 ปีเศษ และ 4 ปีเศษ ก็มีลายเส้นวนทับกันบริเวณกลางลายมือชื่อจนมีสีเข้มกว่าลายมือชื่อส่วนอื่นเช่นเดียวกัน แต่สัญญาโอนหุ้นซึ่งทำหลังบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเพียง 9 เดือน กลับไม่มีลักษณะการลงลายมือชื่อดังที่ว่ามานี้ จึงเป็นข้อน่าพิรุธสงสัยประการหนึ่ง นอกจากนี้รอยตราประทับของบริษัท ช. ที่ปรากฏในสำเนาสัญญาโอนหุ้นเอกสารหมาย ล.3 มีรูปแบบตัวอักษรภาษาอังกฤษโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวอักษร จี แตกต่างจากรอยตราประทับเดิมเมื่อครั้งที่ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับในข้อนี้ เพียงแต่อ้างว่าตราประทับที่ประทับในเอกสารหมาย ล.3 นายคริสโตเฟอร์เป็นผู้มอบให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง กรณีจึงไม่น่าเชื่อว่าลายมือชื่อที่ปรากฏในสัญญาโอนหุ้นตามเอกสารหมาย ล.3 เป็นลายมือชื่อของนายคริสโตเฟอร์จริงดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นายคริสโตเฟอร์มอบสัญญาโอนหุ้นฉบับจริงให้จำเลยที่ 1 นำไปถ่ายสำเนาไว้ ตามเอกสารหมาย ล.3 แล้วจำเลยที่ 1 คืนสัญญาโอนหุ้นฉบับจริงให้แก่นายคริสโตเฟอร์นายคริสโตเฟอร์ไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ ซึ่งก็เป็นข้อพิรุธอีกว่าเหตุใดสัญญาโอนหุ้นดังกล่าวจึงจัดทำเป็นภาษาไทยโดยไม่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ อันเป็นการผิดวิสัยของนักธุรกิจในการทำนิติกรรมสัญญา ทั้งหากนายคริสโตเฟอร์ประสงค์ที่จะยกหุ้นพิพาทให้จำเลยที่ 1 จริง เหตุใดนายคริสโตเฟอร์จึงยังคงเก็บต้นฉบับสัญญาโอนหุ้นไว้โดยเพียงแต่มอบฉบับสำเนาให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นพยานในการทำสัญญาโอนหุ้นเกี่ยวพันเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่พยานคนกลาง จึงมีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายคริสโตเฟอร์ไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาโอนหุ้นพิพาทตามสำเนาสัญญาโอนหุ้นเอกสารหมาย ล.3 จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับโอนหุ้นพิพาทจากโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของหุ้นพิพาท ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของหุ้นพิพาท ทั้งได้โอนหุ้นในส่วนของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. และไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ในฐานะผู้ถือหุ้น การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนลงในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ให้หุ้นของโจทก์ทั้งหมดเป็นของจำเลยที่ 1 และต่อมาได้แจ้งจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น ออกหนังสือเชิญประชุม เข้าร่วมประชุม ออกเสียงในที่ประชุม ลงมติและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ช. จากนายคริสโตเฟอร์เป็นจำเลยที่ 1 จึงล้วนเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมายผูกพันบริษัท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า กรณีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับโอนหุ้นพิพาทมาโดยชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการของจำเลยที่ 1 ในเวลาต่อมาในเรื่องหุ้น การจัดประชุม และเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จึงเป็นไปโดยไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมายทั้งสิ้น ชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบกิจการของบริษัท ช. ในสภาพที่เป็นอยู่ก่อนมีการจดทะเบียนแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 แก่กรรมการบริษัทชุดเดิม หากจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้นลงในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. ให้หุ้นของโจทก์ทั้งหมดในบริษัท ช. เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แทนโจทก์โดยไม่ชอบ โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นของบริษัท ช. ลงในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นพร้อมรายการจดทะเบียนของบริษัท ช. โดยให้โจทก์กลับคืนสู่สถานะผู้ถือหุ้นของบริษัทตามสิทธิที่มีอยู่เดิม ก็เพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงในบริษัท ช. กลับมามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัทตามเดิม โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบกิจการของบริษัท ช. ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบกิจการของบริษัท ช. ในสภาพที่เป็นอยู่ก่อนมีการจดทะเบียนแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้น จึงเป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นลงในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. โดยให้โจทก์กลับคืนสู่สถานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. จำนวน 6,868 หุ้น เป็นหุ้นกลุ่ม ก จำนวน 2,000 หุ้น หมายเลขหุ้น 00001 ถึง 02000 และหุ้นกลุ่ม ข จำนวน 4,868 หุ้น หมายเลขหุ้น 02001 ถึง 06868 ตามเดิม หากจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ