โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนเงินค่าบริการรักษาสุขภาพและความงามที่โจทก์ชำระไป 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์เป็นต้นไป กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อจิตใจและธุรกิจของโจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษอัตราสูงสุดแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 1,630,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยยังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาในส่วนค่ารักษาพยาบาลในอนาคตของโจทก์เพื่อให้อาการแพ้หายเป็นปกติภายในกำหนดเวลาสามปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟัง กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 20,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับการยกเว้นนั้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชน ใช้ชื่อว่า ม. คลีนิค มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นแพทย์ประจำและเป็นลูกจ้างที่ให้บริการในสถานพยาบาลของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 โจทก์เข้ารับการบริการที่ ม. คลีนิค เพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพตับ โดยการฉีดชีวโมเลกุลเข้าสู่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้รับการฉีดชีวโมเลกุลตามนัดอย่างต่อเนื่องตามปริมาณที่จำเลยที่ 2 กำหนดจนครบ โดยฉีดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 ผลการฉีดชีวโมเลกุลดังกล่าวทำให้โจทก์มีอาการแพ้ เกิดผื่นขึ้นใบหน้า ลำคอและเกิดตุ่มขึ้นตามร่างกายของโจทก์ จำเลยที่ 1 พาโจทก์เข้ารับการรักษาอาการแพ้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาล บ. ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 แต่การรักษาไม่ได้ผล แพทย์ผู้ทำการรักษาโจทก์จึงหยุดการรักษา สำหรับจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และโจทก์เสียหายเพียงใดนั้น ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ที่กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า อายุความในคดีนี้อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 13 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 13 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย โดยผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้บริโภคหรือเป็นกรณีที่ต้องใช้เวลาในการแสดงอาการ ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิดแต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย" บทบัญญัติดังกล่าวแยกความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย เป็น 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้บริโภค และกรณีที่สองเป็นผลของสารที่ต้องใช้เวลาในการแสดงอาการของผู้บริโภค เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 โจทก์เข้ารับการบริการที่ ม. คลีนิค เพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพตับ โดยการฉีดชีวโมเลกุลเข้าสู่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้รับการฉีดชีวโมเลกุลตามนัดอย่างต่อเนื่องตามปริมาณที่จำเลยที่ 2 กำหนดจนครบ โดยฉีดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 รวม 6 ครั้ง การฉีดชีวโมเลกุลเข้าสู่ร่างกายดังกล่าวจึงเป็นการให้บริการทางการแพทย์อย่างหนึ่งที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ในข้อนี้นายวิฑูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาล บ. พยานโจทก์เบิกความว่า จากการสอบถามจำเลยที่ 2 ถึงส่วนประกอบของชีวโมเลกุลที่ฉีดให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ทราบเพียงว่าเป็นสารสกัดจากวัวและผลิตจากประเทศเยอรมันเท่านั้น และตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปรากฏหลักฐานใดในชั้นพิจารณาเลยว่าสารดังกล่าว คืออะไร ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของทางราชการที่เกี่ยวข้อง หรือมีงานวิจัยทางวิชาการใดมาสนับสนุนให้เห็นว่าสารชีวโมเลกุลอาจตกค้างหรือสะสมอยู่ในร่างกายจนก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยได้หรือไม่ และข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่าภายหลังจากโจทก์ได้รับฉีดชีวโมเลกุลครั้งแรก โจทก์เริ่มมีอาการแพ้ และเมื่อโจทก์ได้รับการฉีดชีวโมเลกุลในครั้งต่อๆ มา โจทก์มีอาการแพ้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนเกิดอาการผื่นขึ้นบนใบหน้า ลำคอและเกิดตุ่มขึ้นตามร่างกายของโจทก์ จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ต้องพาโจทก์เข้ารับการรักษาอาการแพ้ที่โรงพยาบาล บ. ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 จนถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 แต่การรักษาไม่ได้ผลแพทย์จึงหยุดการรักษา แสดงว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นตามร่างกายของโจทก์มีมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 ปี ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ และไม่แน่นอนว่าในอนาคตจะมีอาการอย่างไรต่อไป ผลของสารที่โจทก์ได้รับจากการฉีดชีวโมเลกุลจำต้องใช้ระยะเวลาในการแสดงอาการ ไม่อาจถืออาการแพ้ที่เห็นได้โดยประจักษ์ก่อนหน้านั้นเป็นผลสุดท้ายของความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีต้องปรับด้วยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 13 มิใช่ปรับด้วยอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา วันที่โจทก์รู้ถึงความเสียหายคดีนี้จึงยังไม่เริ่มต้นนับ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เงินค่าใช้จ่ายในการฉีดชีวโมเลกุลที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 130,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ถือเป็นค่าสินจ้างตามสัญญาจ้างทำของที่โจทก์จ้างให้จำเลยที่ 1 ให้บริการเกี่ยวกับการรักษาตามปกติ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้คืนในฐานะเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิด นอกจากนี้ ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทบัญญัติกฎหมายโดยชัดแจ้งให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี ... และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิมแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ... และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดเกินกว่าหนี้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่ก็ดี การคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายก็ดี เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เดิม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 ตุลาคม 2560) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ