โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก ๖ คนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันมีมีดฉุดคร่ากระทำอนาจารนางสาวหนูเวียง นางสาวกุลผู้เสียหายซึ่งมีอายุกว่า ๑๓ ปี โดยจำเลยกับพวกใช้มีดขู่จะทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองอันเป็นการใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม แล้วจำเลยที่ ๑ กับพวกอีก ๓ คนฉุด นางสาวหนูเวียงและผลัดกันข่มขืนกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่คนละครั้ง ซึ่งนางสาวหนูเวียงมิใช่ภริยาของจำเลยกับพวก และอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ส่วนจำเลยที่ ๒ กับพวกอีก ๓ คนฉุดนางสาวกุลและผลัดกันข่มขืนกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่คนละครั้ง ซึ่งนางสาวกุลมิใช่ภริยาจำเลยกับพวกและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของจำเลยกับพวกทั้งหมดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๗๘, ๒๘๑, ๒๘๔, ๘๓
จำเลยต่างให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๗๘, ๒๘๑, ๒๘๔, ๘๓ ลงโทษตามมาตรา ๒๗๖, ๒๘๑, ๘๓ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกคนละ ๖ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๔ ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ไม่พอฟังลงโทษ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๑นอกจากที่แก้ ยืน
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในฟ้อง ชอบที่จะยกฟ้อง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ได้กระทำผิดจริงดังฟ้องแล้ววินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ ๒ ที่ว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ กับพวกอีก ๓ คนข่มขืนกระทำชำเรานางสาวกุล ข้อเท็จจริงจึงต่างกับฟ้องในสารสำคัญ ศาลต้องยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า ประเด็นสำคัญของคดีก็คือว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ กับพวกอีก ๓ คนข่มขืนกระทำชำเรานางสาวกุล อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง สารสำคัญของฟ้องมีดังกล่าวส่วนข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางพิจารณาที่ว่าพวกของจำเลยที่ ๒ บางคนรู้ตัวแน่ชัดว่าเป็นจำเลยที่ ๑ นายสำลี กับชายอีกคนหนึ่งนั้น ก็เป็นเพียงรายละเอียด หาใช่ข้อสารสำคัญไม่ จำเลยที่ ๒ ก็นำสืบต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ เห็นได้ว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้คดีเลยศาลจึงลงโทษจำเลยได้
แต่ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และปรับบทลงโทษตามมาตรา ๒๘๑ มาด้วยนั้นยังคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะการที่จำเลยฉุดคร่ากระทำอนาจารแก่ผู้เสียหาย แล้วต่อมาได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายนั้น เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน และมาตรา ๒๘๑ มิได้บัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงไม่จำต้องยกขึ้นปรับบทลงโทษจำเลยด้วย อนึ่ง ปรากฏว่าความผิดฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา ๒๗๘ นั้น เป็นความผิดตามมาตรา ๒๘๔อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องยกมาตรา ๒๗๘ ขึ้นปรับบทลงโทษจำเลยอีกเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๘๔, ๘๓ ลงโทษตามมาตรา ๒๗๖, ๘๓ซึ่งเป็นกระทงที่หนักที่สุดตามมาตรา ๙๑ ส่วนการกำหนดโทษและลดโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น