โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ซื้อเชื่อสินค้ารวมเป็นเงิน 138,894.60 บาท จำเลยได้ชำระเงินค่าสินค้าให้โจทก์แล้ว 15,000 บาท คงค้าชำระ 123,894.60บาท จำเลยให้นายมนตรีบุตรชายออกเช็ค 6 ฉบับ ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์เป็นการรับสภาพหนี้แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค 6 ฉบับ โจทก์ติดต่อทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมรับหนังสือทวงถาม ขอให้จำเลยชำระเงิน 123,894.60 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่10 พฤศจิกายน 2516 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 16,261.15 บาท รวมเป็นเงิน140,155.75 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ ไม่เคยให้นายมนตรีทำการค้าในนามของจำเลยร่วมกับจำเลย ความจริงมีว่านับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2515 นายมนตรีเป็นผู้ค้ายาเอง ใช้ชื่อประกอบการพาณิชย์ว่า เต็กมิ่ง โจทก์ติดต่อค้าขายกับนายมนตรีโดยตรง ไม่เกี่ยวกับจำเลย การออกเช็คเป็นเรื่องของนายมนตรีและไม่เป็นการรับสภาพหนี้ หนี้รายนี้เป็นหนี้รายเดียวกับที่โจทก์ฟ้องนายมนตรี ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 1/2517 โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ จึงชอบที่จะรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายมนตรี ไม่มีสิทธิมาฟ้องเอาจากจำเลยอีก ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ หนี้สินที่มีขึ้นก่อนวันที่ 28 สิงหาคม 2516 ขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 123,894.60 บาท โดยหักเงินชำระในคดีล้มละลายออกก่อนให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2516 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าสินค้าเชื่อโจทก์ตามฟ้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ส่วนที่จำเลยว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายมนตรีในคดีล้มละลายมาแล้วประมาณ 2,000 บาทเศษโจทก์ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินอยู่ภายในเวลาตามที่กำหนดในกฎหมายล้มละลาย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการเรียกให้ชำระหนี้ในมูลหนี้รายเดียวกันอีกเป็นการขอรับชำระหนี้ซ้ำไม่ชอบนั้น เห็นว่า เงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายมนตรีดังกล่าวนั้นโจทก์ได้รับภายหลังเมื่อยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว แม้โจทก์จะได้รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ชำระโดยครบถ้วน จึงไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกร้องในส่วนที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลย ซึ่งต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์อีก
พิพากษายืน