โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุกกระทงละ 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 10 กระทง จำคุก 40 เดือน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า หนี้ตามสัญญาเช่าเป็นหนี้ที่ไม่มีอยู่จริง เนื่องจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้องทั้ง 4 แปลง ซึ่งมีการทำสัญญาขายฝากและขายให้แก่โจทก์ในครั้งแรกและต่อมาโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าจากโจทก์นั้น นิติกรรมการขายฝากและซื้อขายดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินซึ่งโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ค่าเช่าที่กำหนดไว้ในสัญญาแท้จริงแล้วคือดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 อันเป็นมูลหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าหนี้ค่าเช่าดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายจึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ใช้วิธีคัดลอกข้อความในอุทธรณ์แบบคำต่อคำ แม้มีเพิ่มเติมเข้ามาบ้างในข้อ 5 และข้อ 6 ก็เป็นเพียงการขยายความเพียงเล็กน้อยจากเนื้อหาในอุทธรณ์เดิมนั้นเอง และแก้ไขชื่อศาลที่โต้แย้งจากศาลชั้นต้นเป็นศาลอุทธรณ์ภาค 8 ส่วนศาลที่ขอให้วินิจฉัยแก้ไขจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นศาลฎีกาเพื่อให้ตรงตามความเป็นจริงเท่านั้น โดยเนื้อหาในฎีกายังคงเป็นเช่นเดียวกับอุทธรณ์แทบทั้งสิ้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องนิติกรรมอำพรางไว้โดยมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยที่เพิ่มเติมมากขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้ว แต่ฎีกาของจำเลยที่ 1 กลับมิได้โต้แย้งเหตุผลในข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ควรวินิจฉัยอย่างไรและด้วยเหตุผลใด ข้อความในฎีกาของจำเลยที่ 1 เช่นนี้จึงต้องถือว่าเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่เช่นเดิม ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้มาก็เป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อย่างไรก็ดี คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยต่อไปว่า หนี้ค่าเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินรวม 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การออกเช็คซึ่งต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 องค์ประกอบความผิดที่สำคัญประการหนึ่งคือเช็คนั้นต้องออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงขณะที่ออกเช็คนั้นและหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมาย ในกรณีของการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 บัญญัติว่า "เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่..." สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 โดยให้การเช่าดังกล่าวมีผลย้อนหลังเป็นการเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่ทำสัญญาเช่าจะเห็นได้ว่า คู่สัญญามีข้อตกลงเช่าอสังหาริมทรัพย์กันเป็นระยะเวลา 5 เดือน โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้การเช่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คเลขที่ 24732031 ถึง 24732035 รวม 5 ฉบับ มอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าในงวดเดือนมิถุนายน 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งแม้ต่อมาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์ อันเป็นหลักฐานเป็นหนังสือว่าจำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจากโจทก์ แต่สัญญาเช่าดังกล่าวได้กระทำภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คทั้ง 5 ฉบับแล้ว และถึงแม้ว่าจะได้กระทำในวันเดียวกันก็ตาม ก็ยังต้องถือว่าในขณะที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าทั้ง 5 เดือน ซึ่งแม้เป็นหนี้ที่มีอยู่จริง แต่หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การออกเช็คทั้ง 5 ฉบับ ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดสำหรับการออกเช็คทั้ง 5 ฉบับ ประกอบกับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 บัญญัติว่า "อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น" แสดงให้เห็นถึงวัตถุที่ประสงค์ของสัญญาให้เช่าทรัพย์สินก็เพื่อที่ผู้ให้เช่าจะได้รับค่าเช่าจากการที่ตนนำทรัพย์สินไปให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ ซึ่งตามสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ข้อ 2 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 1,500,000 บาท และจำเลยที่ 1 ออกเช็คเป็นการชำระค่าเช่ามอบให้แก่โจทก์สำหรับการเช่าในระยะเวลา 8 เดือน ตั้งแต่งวดเดือนมิถุนายน 2561 ถึงงวดเดือนกุมภาพันธ์ 2562 รวม 8 ฉบับ อันแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าที่ประสงค์จะได้รับค่าเช่าจากการทำธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารของจำเลยที่ 1 เป็นรายเดือน แต่ในสัญญาเช่าดังกล่าวกลับระบุไว้ว่าให้ชำระค่าเช่าแก่โจทก์ในคราวเดียวเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเช่าในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเงิน 12,000,000 บาท โดยวันที่ลงในเช็คทั้ง 8 ฉบับ ก็เป็นวันเดียวกับวันสิ้นสุดระยะเวลาการเช่าดังกล่าวและเมื่อพิจารณาตามสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ข้อ 7.2 ที่ระบุว่า "...เมื่อผู้เช่า (ที่ถูก ผู้ให้เช่า) ได้รับค่าเช่าและค่าตอบแทนการจดสิทธิเก็บกินที่ผู้เช่าค้างชำระพร้อมทั้งค่าซื้อขายทรัพย์สินที่เช่าจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 134,700,000 บาท (หนึ่งร้อยสามสิบสี่ล้านเจ็ดแสนบาทถ้วน) ครบถ้วนแล้ว ผู้ให้เช่าตกลงจะคืนเช็คตามสัญญาข้อ 2.1 และ 6.2 ให้กับผู้เช่า..." การที่ผู้ให้เช่าตกลงจะคืนเช็คตามสัญญาข้อ 2.1 ให้แก่ผู้เช่าเมื่อชำระเงินจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้วโดยที่ตามสัญญาไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้ครบถ้วน ก่อนที่เช็คจะถึงกำหนดเรียกเก็บเงินย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของการออกเช็คทั้ง 8 ฉบับดังกล่าวว่า คู่สัญญามีเจตนาให้เช็คดังกล่าวเป็นพียงการประกันหนี้เท่านั้น หาใช่เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าในแต่ละงวดเดือนไม่ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 สำหรับทั้ง 8 ฉบับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามเช็คชำระค่าเช่าทั้ง 8 ฉบับนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
สำหรับเช็คอีก 2 ฉบับ คือเช็ค เลขที่ 24732029 และ 24732030 ซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,200,000 บาท และ 1,500,000 บาท ตามลำดับ มอบให้แก่โจทก์เป็นค่าตอบแทนการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า "จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระค่าตอบแทนการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าตอบแทนสิทธิเก็บกินให้แก่โจทก์สำหรับเดือนเมษายน 2561 จำนวน 1,200,000 บาท และเดือนพฤษภาคม 2561 จำนวน 1,500,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,700,000 บาท โดยตกลงชำระในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 และได้สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ก. ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ส่งมอบเช็คให้แก่โจทก์ไว้เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย..." ซึ่งไม่ปรากฏในคำฟ้องรวมถึงในสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างว่า โจทก์จดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้แก่จำเลยที่ 1 สำหรับที่ดินแปลงใด และมีข้อตกลงเรื่องการชำระค่าตอบแทนกันไว้อย่างไร ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องที่มิได้บรรยายให้ครบถ้วนถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 อีกทั้งตามสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ข้อ 7.2 ระบุถึงการคืนเช็คตามข้อ 6.2 ด้วย โดยเมื่อมีการชำระค่าเช่า ค่าตอบแทนการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินและค่าซื้อขายทรัพย์สินที่เช่าครบถ้วนแล้ว โจทก์จะคืนเช็คตามสัญญาข้อ 6.2 ให้ด้วย ซึ่งเช็คตามข้อ 6.2 ได้แก่ เช็ค การที่สัญญาระบุให้มีการคืนเช็คทั้ง 2 ฉบับ นี้ด้วย เมื่อมีการชำระเงินจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้ว การออกเช็คจึงเป็นการออกเพื่อประกันการชำระหนี้ค่าตอบแทนการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินด้วยเช่นกัน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามเช็คทั้ง 2 ฉบับ นี้ได้ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามเช็คทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวเป็นความผิด 2 กรรม นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเช่นกัน
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์