โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๘๓, ๒๘๘, ๓๗๑ ริบอาวุธมีดของกลาง นับโทษหรือระยะเวลาฝึกและอบรมของจำเลยต่อจากคดีก่อน
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายโดยมารดาผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบอาวุธมีดของกลาง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ (๘), ๓๗๑ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ ๑๔ ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕ เรียงกระทงลงโทษข้อหาทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส จำคุก ๑ ปี ข้อหาพาอาวุธมีดปรับ ๔๕ บาท รวมจำคุก ๑ ปี และปรับ ๔๕ บาท คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้วคงจำคุก ๘ เดือน และปรับ ๓๐ บาท ปรากฏตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของจำเลยว่า จำเลยมีความประพฤติเสียหายหลายอย่าง สมควรเอาตัวไว้ฝึกอบรมสักระยะหนึ่งเพื่อขัดเกลานิสัย อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๐๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง มีกำหนดขั้นต่ำ ๖ เดือน ขั้นสูง ๑ ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้รับการฝึกและอบรมต่ออีก ๑ เดือน ริบมีดของกลาง คำขออื่นให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ ๑๔ ปีเศษ และผลที่สุดพิพากษาลงโทษจำเลยโดยปรับบทลงโทษมาแต่ละกระทงความผิด แล้วเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางนั้น ในข้อนี้กลับได้ความจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยเกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๖ และเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๙ ดังนั้น ขณะกระทำความผิดจำเลยคงมีอายุเพียง ๑๓ ปีเศษ เท่านั้น หาใช่ ๑๔ ปีเศษ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนเช่นนี้ แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๔ (๒) อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (๓) ก. ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๗ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ โดยเฉพาะขณะนี้จำเลยมีอายุครบ ๑๘ ปีแล้ว กรณีไม่อาจส่งตัวจำเลยไปเพื่อฝึกและอบรมได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ (๕) แต่แม้กระนั้นก็ตามเห็นสมควรให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ (๒) และ (๓) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกามา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ดังนั้น จึงต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ เสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ (๘) ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ จำเลยอายุยังไม่เกิน ๑๔ ปี ไม่ต้องรับโทษจึงให้มอบตัวจำเลยให้นางศิริวรรณ รักชาติ ซึ่งเป็นป้าและผู้ปกครองจำเลยไปดูแล หากจำเลยก่อเหตุร้ายภายใน ๓ ปี ให้นางศิริวรรณชำระเงินต่อศาลครั้งละ ๑,๐๐๐ บาท ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ๓ เดือนต่อครั้ง มีกำหนด ๑ ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา ๓๐ ชั่วโมง และประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ กับละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ (๒) และ (๓) ประกอบด้วยมาตรา ๕๖ ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒.