โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8, 83, 91, 277, 279, 283 ทวิ, 317, 319
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาและที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังได้ว่านางสาว ส. ผู้เสียหายที่ 2 เกิดวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ขณะเกิดเหตุตามคำฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.6 มีอายุ 14 ปีเศษ ขณะเกิดเหตุตามคำฟ้องข้อ 1.7 มีอายุ 15 ปีเศษ และอยู่ในความปกครองดูแลของนางสาว ข. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติญี่ปุ่นเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยหลายครั้งต่อปี โดยมีนาย พ. ให้การต้อนรับขณะที่จำเลยอาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยรู้จักกันในประเทศไทยตั้งแต่กลางปี 2561 ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร และฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยให้การปฏิเสธ เมื่อระหว่างวันที่ 16 ถึง 21 เมษายน 2562 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 มีอายุ 15 ปีเศษ จำเลยร่วมกับนาย พ. พรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจาร คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามคำฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.6 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 เป็นประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยกระทำความผิดดังกล่าว สาเหตุที่ไม่ปรากฏหลักฐานการจองห้องพักของนาย พ. ในโรงแรมที่เกิดเหตุในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2561 อาจเป็นเพราะจำเลยใช้บุคคลอื่นให้จองห้องพักแทนนาย พ. และสาเหตุที่พยานโจทก์ปาก นางสาว ศ. เบิกความว่าไม่เคยเห็นผู้เสียหายที่ 2 ในโรงแรมที่เกิดเหตุ เป็นเพราะนางสาว ศ. ซึ่งเป็นพนักงานของโรงแรมที่เกิดเหตุกลัวว่าการให้เด็กเข้าพักในโรงแรมจะทำให้เจ้าของโรงแรมเดือดร้อน นั้น โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อกลางปี 2561 นาย พ. ชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปทำงานดูแลคนสูงอายุที่โรงแรมที่เกิดเหตุ โดยนาย พ. พาผู้เสียหายที่ 2 ไปพบจำเลยในห้องพัก จำเลยกอดจูบและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการใช้อวัยะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งผู้เสียหายที่ 2 พยายามขัดขืนจำเลยแล้วแต่ไม่เป็นผล ผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในห้องพักดังกล่าวจนถึงเวลา 8 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น แล้ว นาย พ. เดินทางมารับตัวผู้เสียหายที่ 2 โดยจำเลยให้เงิน 10,000 บาท แก่นาย พ. ซึ่งนาย พ. แบ่งเงินให้ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 5,000 บาท จากนั้นอีก 2 วันต่อมานาย พ. แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปหาจำเลยที่ห้องพักในโรงแรมที่เกิดเหตุอีก ผู้เสียหายที่ 2 เดินทางไปหาจำเลยที่ห้องพักดังกล่าวแล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการใช้อวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 จากนั้น นาย พ. ให้เงินผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 5,000 บาท อีก 1 สัปดาห์ต่อมานาย พ. แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปหาจำเลยอีก แต่ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิเสธว่าจะไปเที่ยวกับเพื่อนนาย พ. ใช้ให้ลูกน้องมาดักใช้อาวุธมีดขู่ว่าจะแทงผู้เสียหายที่ 2 จนผู้เสียหายที่ 2 กลัว แล้ว นาย พ. เดินทางมารับตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปหาจำเลยที่ห้องพักในโรงแรมอีกแห่งหนึ่ง จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการใช้นิ้วมือสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นผู้เสียหายที่ 2 ยังคงอยู่ในห้องพักดังกล่าวจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น แล้วนาย พ. เดินทางมารับตัวผู้เสียหายที่ 2 และให้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 6,000 บาท ต่อมาเมื่อปี 2562 นาย พ. ถามผู้เสียหายที่ 2 ว่าสนใจเดินทางไปหาจำเลยที่ประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ ผู้เสียหายที่ 2 อยากเดินทางไปเที่ยวจึงตอบว่าสนใจนาย พ. เดินทางมารับตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปส่งที่ท่าอากาศยาน แล้วผู้เสียหายที่ 2 โดยสารเครื่องบินเดินทางไปหาจำเลยที่ประเทศญี่ปุ่น จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งโดยที่ไม่มีเพศสัมพันธ์กัน แต่จำเลยหอมแก้มผู้เสียหายที่ 2 หนึ่งครั้ง ครั้นผู้เสียหายที่ 2 เดินทางกลับประเทศไทย ผู้เสียหายที่ 2 มีอาการปวดท้อง ผู้เสียหายที่ 1 พาผู้เสียหายที่ 2 ไปตรวจดูอาการที่โรงพยาบาลบ้านไผ่ ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 มีอาการมดลูกอักเสบ ผู้เสียหายที่ 2 เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้เสียหายที่ 1 ฟัง จากนั้นผู้เสียหายที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 1 เดินทางไปยังโรงแรมที่เกิดเหตุ พบจำเลยกับนาย พ. อยู่ในที่ดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 พาผู้เสียหายที่ 2 ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ แต่ผู้เสียหายทั้งสองได้รับคำแนะนำจากเจ้าพนักงานตำรวจให้ไปร้องทุกข์ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดขอนแก่น ผู้เสียหายที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวน และมีผู้เสียหายที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 ผู้เสียหายที่ 2 มีอาการปวดท้อง ผู้เสียหายที่ 1 จึงพาผู้เสียหายที่ 2 ไปตรวจอาการที่โรงพยาบาลบ้านไผ่ แล้วผู้เสียหายที่ 2 เล่าให้ฟังว่าตนถูกจำเลยซึ่งมีสัญชาติญี่ปุ่นใช้นิ้วมือสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศ โดยมีนาย พ. ทำหน้าที่เป็นคนพาผู้เสียหายที่ 2 ไปหาจำเลย จากนั้น 1 เดือนต่อมา ผู้เสียหายที่ 2 แจ้งว่าจำเลยเดินทางมาที่อำเภอบ้านไผ่ และนัดให้ผู้เสียหายที่ 2 เดินทางไปหาจำเลยอีก ผู้เสียหายที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 1 ไปยังโรงแรมที่เกิดเหตุโดยผู้เสียหายที่ 1 ซุ่มดูเหตุการณ์อยู่ภายนอกโรงแรม ผู้เสียหายที่ 1 เห็นนาย พ. พาผู้เสียหายที่ 2 เดินไปที่หน้าห้องพัก แล้วจำเลยเปิดประตูห้องพักรับผู้เสียหายที่ 2 เข้าห้องไปตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา จนถึงเวลา 13 นาฬิกาเศษ ผู้เสียหายที่ 1 ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน และมีนางสาว ศ. พนักงานโรงแรมที่เกิดเหตุเป็นพยานเบิกความว่านาย พ. เปิดใช้บริการห้องพักของโรงแรมโดยมีจำเลยเป็นผู้ชำระเงินหลายครั้ง ดังนี้ ตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ระบุว่าเหตุครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เกิดขึ้นห่างกันประมาณ 2 วัน และเหตุครั้งที่ 3 เกิดขึ้นห่างจากครั้งที่ 2 ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยในครั้งที่ 3 ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมไปหาจำเลยตามที่ นาย พ. สั่งการนาย พ. จึงให้ลูกน้องมาดักใช้อาวุธมีดขู่ผู้เสียหายที่ 2 กลัวจนยอมไปหาจำเลย สอดคล้องกับที่ผู้เสียหายที่ 2 ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่า ภายหลังจากที่ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมทำตามที่นาย พ. สั่งในครั้งที่ 3 แล้ว ขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 ไปเดินเที่ยวดูรถแห่ในตลาด มีหญิงประมาณ 10 คน เข้ามารุมกระชากผมและตบตีผู้เสียหายที่ 2 โดยมีคนชักอาวุธมีดออกมาข่มขู่ผู้เสียหายที่ 2 ด้วย แต่ภายหลังจากนั้นจนกระทั่งผู้เสียหายที่ 2 เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น และผู้เสียหายที่ 1 ทราบเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 ได้เบิกความหรือให้การว่ามีเหตุการณ์ที่ตนถูกรุมทำร้ายอีก และผู้เสียหายที่ 1 ก็ไม่ได้เบิกความว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวอีกเช่นกัน แต่เมื่อพิจารณาคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 แล้ว กลับปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 ให้การว่านาย พ. ส่งคนมารุมทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ในวันเดียวกันนั้น ซึ่งสอดคล้องกับรายละเอียดที่ผู้เสียหายที่ 1 แจ้งความไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า "เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 บุตรสาวของผู้แจ้งไปเที่ยวงานรถแห่ แต่ได้ถูกกลุ่มวัยรุ่นทำร้ายร่างกาย ซึ่งผู้แจ้งเชื่อว่าเป็นฝีมือของนาย พ. ที่สั่งให้กลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวรุมทำร้ายบุตรสาวตน" จึงเชื่อได้ว่า เหตุการณ์ที่ผู้เสียหายที่ 2 อ้างว่าถูกพวกของนาย พ. รุมทำร้ายและใช้อาวุธมีดขู่ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 ดูรถแห่ในตลาด กับเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายที่ 1 แจ้งความว่าผู้เสียหายที่ 2 ถูกพวกของนาย พ. รุมทำร้ายในงานรถแห่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน เพราะหากเป็นคนละเหตุการณ์กันแล้ว ผู้เสียหายทั้งสองย่อมต้องเบิกความถึงเรื่องดังกล่าวต่อศาล เนื่องจากเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ตัดสินใจเดินทางไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายทั้งสองอ้างถึงวันเวลาในการกระทำความผิดตามคำฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.6 แตกต่างกันอย่างชัดเจน จึงเป็นพิรุธ ประกอบกับเมื่อพิจารณาใบเสร็จรับเงินของโรงแรมแล้ว ไม่ปรากฏว่านาย พ. ได้จองห้องพักโรงแรมที่เกิดเหตุในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2561 อันเป็นช่วงเวลาตามฟ้องแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ปรากฏจากทางนำสืบโจทก์ด้วยว่านอกจากนาย พ. แล้วยังมีบุคคลอื่นทำหน้าที่จองห้องพักและจัดหาเด็กหญิงมาให้จำเลยกระทำชำเราหรือกระทำอนาจารอีก นอกจากนี้ พยานโจทก์ปากนางสาว ศ. ซึ่งเป็นพนักงานโรงแรมที่เกิดเหตุยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านโดยปราศจากข้อพิรุธสงสัยว่าตนไม่เคยเห็นผู้เสียหายที่ 2 เข้ามาในโรงแรมที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.6 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดในราชอาณาจักร จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายไทย เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงตามใบต่อคำให้การเพิ่มเติมของผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้ความว่านาย พ. ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจำเลยขับรถยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 ที่สี่แยกบ้านไผ่แล้วพาไปส่งที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จากนั้นผู้เสียหายที่ 2 โดยสารเครื่องบินไปหาจำเลยที่ประเทศญี่ปุ่น เห็นได้ว่าการพรากผู้เยาว์ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่นาย พ. ขับรถยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 ที่สี่แยกบ้านไผ่แล้ว หาได้เพิ่งเกิดขึ้นขณะที่จำเลยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ จึงเป็นกรณีที่การกระทำส่วนหนึ่งในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ได้กระทำในราชอาณาจักร และอีกส่วนหนึ่งได้กระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ศาลจึงลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน