โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้เป็นเงิน 317,019.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ของต้นเงิน 264,845.81 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้เป็นเงิน 2,523,858.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ของต้นเงิน 2,108,364.49 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 และที่ 7 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ให้จำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงิน 2,840,878.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5.1 ต่อปี ของต้นเงิน 2,425,384.45 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 23 มีนาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ชำระแทนเป็นเงิน 2,446,255.69 บาท จำเลยที่ 5 และที่ 6 ชำระแทนเป็นเงิน 2,126,906.53 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,500 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
จำเลยที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 7 ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของจำเลยที่ 7 ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงิน 600,000 บาท จากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน และเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2558 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงิน 2,800,000 บาท จากโจทก์ ยินยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5.4 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับเงินกู้จนกว่าจะชำระเสร็จ หากโจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดลง จำเลยที่ 1 ยินยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดขึ้นใหม่ โดยผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน งวดละไม่ต่ำกว่า 21,270 บาท รวม 200 งวด โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นผู้ค้ำประกัน ส่วนจำเลยที่ 7 เคยทำหนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรสในการที่จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ ภายหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งเจ็ดเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 7 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า หนังสือยินยอมคู่สมรส ผูกพันจำเลยที่ 7 ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ในหนี้อนาคตที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 7 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2545 และในระหว่างสมรสได้ความจากคำเบิกความของนายบุญศรี พยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 7 ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมคู่สมรส ยอมให้จำเลยที่ 1 คู่สมรสของตนกู้เงินโจทก์ ดังนั้น การให้ความยินยอมของจำเลยที่ 7 ตามหนังสือยินยอมคู่สมรสดังกล่าว ถือเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวในการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ในคราวนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) แต่การให้ความยินยอมของจำเลยที่ 7 จะเป็นการให้ความยินยอมหรือสัตยาบันต่อการกู้เงินตามฟ้องอันเป็นเหตุการณ์ในอนาคตด้วยหรือไม่ คงต้องพิจารณาความหมายของคำว่า สัตยาบัน ตามมาตรา 1490 (4) เป็นสำคัญ เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้ให้นิยามหรือคำจำกัดความของคำว่าสัตยาบันไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ที่ให้ความหมายประการหนึ่งว่า "การยืนยันรับรองความตกลงระหว่างประเทศที่ได้กระทำขึ้นไว้" และความหมายอีกประการหนึ่ง คือ "การรับรองนิติกรรมที่เป็นโมฆียะอันเป็นผลให้นิติกรรมนั้นสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก" จึงพอสรุปได้ว่า สัตยาบัน คือ การยืนยันรับรองความตกลงหรือการรับรองนิติกรรม และเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า บุคคลจะยืนยันรับรองความตกลงหรือรับรองนิติกรรมใดได้ ย่อมต้องมีข้อตกลงหรือนิติกรรมเช่นนั้นเกิดขึ้นเสียก่อนแล้วจึงให้สัตยาบันได้ ดังนั้น การให้สัตยาบันของสามีหรือภริยาแก่หนี้ที่อีกฝ่ายก่อขึ้นตามมาตรา 1490 (4) ย่อมมีลักษณะเฉกเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ต้องมีหนี้เกิดขึ้นเสียก่อน สามีหรือภริยาถึงจะให้สัตยาบันได้ การให้ความยินยอมในขณะที่ยังไม่มีความตกลง ไม่มีนิติกรรมหรือไม่มีหนี้เกิดขึ้น ย่อมไม่ต้องด้วยความหมายของการให้สัตยาบัน โจทก์ไม่อาจถือเอาหนังสือยินยอมคู่สมรสที่จำเลยที่ 7 ทำไว้ต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 มาเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นในภายหลังเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 และวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ได้ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างมาว่า หนี้ตามคำฟ้องเป็นหนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว อันเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 7 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (1) นั้น ข้อเท็จจริงของหนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว เป็นเรื่องนอกเหนือไปจากคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ นับเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 เมื่อจำเลยที่ 7 มิได้ให้สัตยาบันแก่หนี้พิพาทที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นในระหว่างเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 7 ตามมาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 7 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5.1 ต่อปี ของต้นเงิน 2,425,384.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ชำระแทนเป็นเงิน 2,446,255.69 บาท นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระตามสัญญากู้ยืมเงินสินเชื่อประเภทเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน เป็นต้นเงิน 264,845.81 บาท และมีหนี้ค้างชำระตามสัญญากู้ยืมเงินสินเชื่อประเภทสามัญ เป็นต้นเงิน 2,108,364.49 บาท จึงรวมเป็นต้นเงินค้างชำระ 2,373,210.30 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยจากต้นเงิน 2,425,384.45 บาท จึงไม่ถูกต้องและเกินคำขอของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ต้องรับผิดดอกเบี้ยหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดคิดเป็นเงิน 20,871.24 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับต้นเงิน 2,373,210.30 บาท แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 4 จะต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,394,081.54 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ชำระแทนเป็นเงิน 2,446,255.69 บาท จึงไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,840,878.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5.1 ต่อปี ของต้นเงิน 2,373,210.30 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มีนาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ชำระแทนเป็นเงิน 2,394,081.54 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ