คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,000,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองคนละกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 นั้น เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกจำเลยทั้งสองได้อีกคงเพิ่มได้เฉพาะโทษปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 เป็นปรับคนละ 1,500,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 750,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจนำธนบัตร 60,000 บาท ให้สายลับสองคนไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 จำนวน 2,000 เม็ด ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสอง พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด ธนบัตรที่สายลับใช้ล่อซื้อ 60,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ และใบรายการโอนเงินธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ชื่อผู้รับโอน นายสำเริง 2 แผ่น เป็นของกลาง ซึ่งเมทแอมเฟตามีนได้ส่งไปตรวจพิสูจน์ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีน้ำหนัก 208.984 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 43.526 กรัม คดีสำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคดีสำหรับจำเลยที่ 2 กรณีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับนายเบิร์ดและจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่สายลับ แม้จะได้ความจากพันตำรวจประยูรว่า หากดูภาพถ่าย แผ่นที่ 1 และที่ 2 หมายเลขโทรศัพท์ของนายเบตที่ใช้ติดต่อกับจำเลยที่ 2 เป็นหมายเลข 06 2767 xxxx ซึ่งตรงกับหมายเลขโทรศัพท์ที่นายเบิร์ดติดต่อเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของสายลับคนที่ 2 อันเป็นการแสดงว่า นายเบตกับนายเบิร์ดเป็นบุคคลคนเดียวกันและมีหมายเลขโทรศัพท์ของสายลับติดต่อเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนเองติดต่อการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนครั้งนี้ และหากจำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีได้ จำเลยที่ 2 ก็จะมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้เลย จึงมิอาจถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และนายเบิร์ดในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนคดีนี้ เริ่มจากสายลับติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 จำนวน 2,000 เม็ด ราคา 60,000 บาท หลังจากจำเลยที่ 1 ขอดูเงินที่สายลับจะใช้ซื้อเมทแอมเฟตามีนแล้วโทรศัพท์แจ้งนายเบิร์ด นายเบิร์ดจึงตกลงยินยอมส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับโดยนัดติดต่อจุดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกับสายลับคนที่ 2 นายเบิร์ดจึงเป็นตัวการสำคัญมีอำนาจตัดสินใจในการขายเมทแอมเฟตามีนและหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจและสายลับคนที่ 2 ได้รับเมทแอมเฟตามีน ณ จุดส่งมอบแล้ว สายลับคนที่ 2 โทรศัพท์แจ้งสายลับคนที่ 1 ให้ทราบเรื่อง สายลับคนที่ 1 จึงส่งมอบเงินล่อซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 ระหว่างนั้นนายเบิร์ดใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อมายังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีของนายสำเริง ตามที่เคยทำมาก่อน แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธเนื่องจากเครื่องไม่รับ นายเบิร์ดจึงบอกว่าจะมอบให้จำเลยที่ 2 มารับเงินแทนนายเบิร์ดที่บริเวณปากซอยเชื่อมสัมพันธ์ 24 อันถือได้ว่าเป็นการกระทำเกี่ยวเนื่องกับการชำระค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่นายเบิร์ดนั่นเอง การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนยังไม่ขาดตอน เมื่อจำเลยที่ 2 มาจอดรถกระบะรอรับเงินและถูกจับได้จะถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ หรือเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดอันจะเป็นความผิดฐานสนับสนุนหรือไม่นั้น ได้ความจากพันตำรวจโทประยูรว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ารู้จักกับจำเลยที่ 2 ภายหลังจากออกจากเรือนจำมาแล้ว จำเลยที่ 2 แนะนำให้จำเลยที่ 1 รู้จักกับนายเบิร์ดและได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อกับนายเบิร์ด ความข้อนี้ยังปรากฏในบันทึกการจับกุมและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้หมายเลขโทรศัพท์ของนายเบิร์ดมาจากจำเลยที่ 2 หลังจากนั้นได้เคยติดต่อทางโทรศัพท์ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายเบิร์ดก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ประกอบกับจำเลยทั้งสอง ต้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษถูกจำคุกอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันโดยศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 5 ปี และปรับ 200,000 บาท และจำเลยที่ 1 พ้นโทษเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 4 ปี และจำเลยที่ 2 พ้นโทษเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 ทั้งมีการจับกุมจำเลยที่ 2 ที่ปากซอยดังกล่าวอันเป็นจุดที่นายเบิร์ดนัดให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าเมทแอมเฟตามีนไปมอบให้แก่จำเลยที่ 2 และยังตรวจค้นพบใบโอนเงินเข้าบัญชีนายสำเริง 2 แผ่น ในวันที่ 1 และวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นบัญชีเดียวกับที่นายเบิร์ดประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 โอนเงินที่ได้จากการขายเมทแอมเฟตามีนเข้าบัญชีนี้แต่แรก จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 รู้จักกับจำเลยที่ 2 เงินที่จำเลยที่ 2 โอนเข้าบัญชีดังกล่าวเป็นเงินที่เกี่ยวกับการขายเมทแอมเฟตามีนครั้งก่อน และจำเลยที่ 2 รู้อยู่ว่านายเบิร์ดให้จำเลยที่ 2 มารอรับเงินค่าขายเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง เพราะข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า วันเกิดเหตุนายเบตโทรศัพท์บอกให้จำเลยที่ 2 ไปรอรับเงินค่าขายรถจากลูกค้าแทนที่บริเวณปากซอยเชื่อมสัมพันธ์ 24 เพราะนายเบตอยู่ต่างจังหวัด จำเลยที่ 2 ก็มิได้มีนายเบตมาเบิกความเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวและเป็นการง่ายแก่การกล่าวอ้าง ส่วนที่ได้ความจากจำเลยที่ 1 พยานจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่รู้จักจำเลยที่ 2 แต่รู้จักนายเบิร์ด นายเบิร์ดไม่ได้บอกจำเลยที่ 1 ว่าจะให้จำเลยที่ 2 มารอรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนแทนนั้นก็ขัดแย้งกับที่จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนดังกล่าว ซึ่งเป็นการให้การสด ๆ ในวันเกิดเหตุและวันรุ่งขึ้น โดยจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเวลาคิดเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เบิกความดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงมิอาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 เพราะการดำเนินคดีตามมาตรา 6 จะต้องมีการแจ้งข้อหาโดยได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวก่อน แต่หาได้มีการอนุมัติดังกล่าวไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 53 จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666.66 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 คงจำคุก 50 ปี และปรับ 999,999.99 บาท และไม่ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์