โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,045,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 345,860 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 กรกฎาคม 2558) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและมอบอำนาจให้นายจรัญ เป็นผู้ดำเนินคดีแทน และจำเลยก็มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและมอบอำนาจให้นายเดโช เป็นผู้ดำเนินคดีแทน โจทก์ขอสินเชื่อจากจำเลยโดยนำรถกระบะจำนวน 3 คัน จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อของจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระเงินสินเชื่อให้โจทก์ตามที่โจทก์ขอสินเชื่อไว้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนางธนนา ซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ และนางสาวณัฐปภัสร์ พนักงานของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ประสงค์จะขอสินเชื่อจากจำเลย สาขาปทุมธานี จำนวน 700,000 บาท โดยนำรถกระบะยี่ห้อโตโยต้าจำนวน 3 คัน มาจำนำทะเบียนไว้แก่จำเลย โดยพยานทั้งสองติดต่อกับพนักงานของจำเลยที่สาขาปทุมธานี พนักงานของจำเลยแจ้งว่าถ้าไม่โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ต้องมีคนค้ำประกัน หากจะให้ได้รับการอนุมัติอย่างแน่นอนต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ทั้งสามคันเป็นชื่อจำเลยก่อน โดยโจทก์ต้องเสียค่าโอนและค่าธรรมเนียมคันละ 1,810 บาท โจทก์จำเป็น ต้องใช้เงินในการลงทุนเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว โจทก์จึงทำสัญญาเช่าซื้อและส่งมอบสมุดคู่มือทะเบียนรถ หนังสือมอบอำนาจ หนังสือโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้จำเลย ต่อมากลางเดือนพฤษภาคม 2558 พนักงานของจำเลยแจ้งพยานทั้งสองว่า จำเลยอนุมัติสินเชื่อแล้ว และจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ทั้งสามคันเป็นของจำเลย หลังจากนั้นจะนัดโจทก์ไปรับเงินที่สำนักงานจำเลย สาขาปทุมธานี ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 โจทก์โอนรถยนต์ทั้งสามคันไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 โจทก์ติดต่อซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการร้านขายก๋วยเตี๋ยวเป็นโต๊ะ เก้าอี้ไม้ 35 ชุด รวมเป็นเงิน 390,000 บาท วางมัดจำไว้ 200,000 บาท และสั่งทำหม้อก๋วยเตี๋ยว ชั้นวางรถเข็นสแตนเลสเป็นเงิน 311,000 บาท วางมัดจำไว้ 200,000 บาท กำหนดส่งสินค้าภายใน 25 วัน นับแต่วันทำสัญญา โจทก์ทวงถามจำเลยหลายครั้ง พนักงานของจำเลยแจ้งว่ากำลังดำเนินการอยู่ ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2558 โจทก์ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากทนายความของจำเลยแจ้งว่า จากการตรวจสอบข้อมูลและคุณสมบัติของโจทก์แล้ว ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้โจทก์ได้ ให้โจทก์ไปรับสมุดจดทะเบียนรถยนต์พร้อมชุดโอนคืนที่สำนักงานจำเลย สาขาปทุมธานี วันที่ 12 มิถุนายน 2558 โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญา แต่ไม่สามารถส่งได้เนื่องจากไม่มีผู้รับ การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาและละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยมีนายเดโช ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 ถึง 23 พฤษภาคม 2558 นายเฉลิมชัย ผู้จัดการกลุ่มดูแลลูกค้าสาขาปทุมธานี ได้ปรึกษาพยานว่า โจทก์ติดต่อขอสินเชื่อโดยประสงค์จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จำนวน 3 คัน โดยโจทก์แจ้งว่ามีความจำเป็น ต้องใช้เงินโดยด่วน นายเฉลิมชัยจึงแนะนำว่าระหว่างรอการอนุมัติจากสำนักงานใหญ่จำเลย ให้โจทก์โอนรถยนต์เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยก่อน ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 โจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ทั้งสามคันเป็นของจำเลย วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 โจทก์ทำคำขอสินเชื่อกับจำเลย ภายหลังสำนักงานใหญ่ของจำเลยตรวจสอบข้อมูลแล้วไม่อนุมัติคำขอสินเชื่อเช่าซื้อให้โจทก์ โดยนายเฉลิมชัยแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อมารับเอกสารการมอบอำนาจในการโอนรถยนต์ทั้งสามคัน สมุดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งสามคัน เพื่อให้โจทก์นำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กลับคืนมาเป็นของโจทก์ แต่โจทก์ไม่มารับเอกสารตามที่นายเฉลิมชัยแจ้ง โดยโจทก์ประสงค์จะรับเงิน นายเฉลิมชัยจึงโอนเงินค่าธรรมเนียมการโอนรถยนต์คืนให้โจทก์โดยโอนเข้าบัญชีโจทก์เป็นเงิน 5,900 บาท และนำเอกสารประกอบการโอนไปส่งมอบคืนให้โจทก์ยังที่ทำการของโจทก์ แต่โจทก์ปฏิเสธไม่รับเอกสารคืน เห็นว่า การก่อให้เกิดสัญญาต้องเกิดขึ้นโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย พยานโจทก์ปากนางธนนา และนางสาวณัฐปภัสร์ ต่างเบิกความว่า พนักงานของจำเลย สาขาปทุมธานีแจ้งแก่พยานโจทก์ทั้งสองว่า หากไม่โอนเล่มทะเบียนต้องมีคนค้ำประกัน และหากจะให้ได้รับอนุมัติอย่างแน่นอนต้องโอนเล่มทะเบียนไปเป็นชื่อของจำเลย และได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนางสาวณัฐปภัสร์เพิ่มเติมว่า พยานได้ติดต่อสอบถามความคืบหน้าจากพนักงานของจำเลยโดยตลอดว่ามีการอนุมัติสินเชื่อแล้วหรือยัง ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานจำเลยปากนายเดชาว่า นายเฉลิมชัย ผู้จัดการกลุ่มดูแลลูกค้า และการจัดสัญญาในเขตปทุมธานีของจำเลยได้มาปรึกษาพยานเรื่องที่โจทก์ติดต่อขอสินเชื่อโดยประสงค์จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์สามคัน นายเฉลิมชัยได้แนะนำโจทก์ว่า ระหว่างที่รอการอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ทั้งสามคันเป็นชื่อของจำเลยก่อน ต่อมาสำนักงานใหญ่ตรวจสอบข้อมูลแล้วไม่อนุมัติคำขอสินเชื่อเช่าซื้อให้แก่โจทก์ นายเฉลิมชัยจึงแจ้งให้โจทก์ทราบและคืนเอกสารประกอบคำขอสินเชื่อเช่าซื้อ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถและเงินค่าโอนและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่รับคืนโดยประสงค์จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ต่อไป จึงแสดงให้เห็นว่า การอนุมัติสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อเป็นหน้าที่ของสำนักงานใหญ่ของจำเลย สำนักงานสาขาปทุมธานีของจำเลยไม่มีอำนาจอนุมัติและทำสัญญาเช่าซื้อ แต่มีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าแล้วส่งสัญญาที่ลูกค้าขอสินเชื่อให้สำนักงานใหญ่ของจำเลยพิจารณาอนุมัติสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ปรากฏว่านายเฉลิมชัยมีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อด้วยแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์ของนายเฉลิมชัยดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่านายเฉลิมชัยเป็นตัวแทนในการอนุมัติสินเชื่อของจำเลย การที่โจทก์ยื่นแบบคำขอสินเชื่อต่อจำเลย และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่จำเลยไปก่อน ไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายในการทำสัญญา เพราะสำนักงานใหญ่ของจำเลยยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติคำขอสินเชื่อเช่าซื้อของโจทก์ จึงเป็นเพียงคำเสนอเท่านั้น สัญญาให้สินเชื่อเช่าซื้อให้โจทก์จึงยังไม่เกิด จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่น แม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ