โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 341, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ในข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 จึงให้ประทับฟ้องคดีโจทก์ที่ 1 ในข้อหาดังกล่าว โดยให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 2 และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ส่วนข้อหาร่วมกันฉ้อโกงผู้อื่นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 จำคุก 1 ปี
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า เมื่อปี 2540 จำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า ได้ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน เจ้าพนักงานที่ดินออกสำรวจรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวพร้อมกับปักหลักหมุดแสดงแนวเขตที่ดินไว้ ปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา ปี 2551 จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2 ราคา 900,000 บาท และให้เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลทับใต้เปลี่ยนชื่อผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ในใบ ภบท. 5 จากจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ที่ 2 ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2557 โจทก์ที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 จำเลยที่ 1 ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน ว่าจำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันนั้นเองในราคา 1,300,000 บาท วันที่ 1 สิงหาคม 2561 โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้นางสาวณัฎฐนัช แจ้งเรื่องราวต่อพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นหลักฐานว่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขายให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของ วันที่ 20 สิงหาคม 2563 โจทก์ที่ 1 แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินจนถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2561 โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้นายทัศไนย ยื่นคำขออายัดการทำนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสองเพื่อดำเนินคดีอาญา แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน ไม่รับคำขอ วันที่ 19 ธันวาคม 2561 โจทก์ที่ 1 ร้องเรียนขอความเป็นธรรมและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวต่ออธิบดีกรมที่ดิน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ประการแรกมีว่า โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์ฟ้องของโจทก์ที่ 1 ทั้งหมดแล้ว แม้โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน ผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 หรือผู้อื่น โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเอกสารดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานอย่างใดก็ตาม แต่เมื่ออ่านถ้อยคำในฟ้องของโจทก์ที่ 1 ทั้งหมดแล้วมีความหมายในทำนองว่าโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการนั้น มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานด้วย ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 ต่อไปว่า ในวันที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน จดข้อความอันเป็นเท็จลงในโฉนดที่ดินพิพาท และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกันนั้นเอง ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ที่ 1 เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานดังกล่าวนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่า หลังจากพยานซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 2 แล้ว พยานเสียภาษีบำรุงท้องที่ต่อเนื่องมาตลอด ในปี 2559 พยานทำรั้วล้อมที่ดินพิพาท 3 ด้าน เนื่องจากที่ดินพิพาทมีเนื้อที่เป็นสามเหลี่ยม หลังจากนั้น 3 ถึง 4 เดือน พยานไปตรวจสอบที่ดินดังกล่าวอีกครั้งพบว่ารั้วซึ่งติดกับที่ดินข้างเคียงถูกรื้อสูญหายไป 2 ด้าน คงเหลือด้านเดียวที่ติดกับถนน และทราบว่าผู้ที่รื้อรั้วคือเจ้าของที่ดินข้างเคียง พยานจึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรหัวหินเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 และในปี 2559 เจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือถึงพยานในฐานะที่ดินข้างเคียงให้ไประวังแนวเขต ซึ่งในเอกสารดังกล่าวระบุว่าพยานซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ที่ 2 เห็นว่า โจทก์ที่ 1 เบิกความประกอบเอกสารและภาพถ่าย ตามลำดับเหตุการณ์ได้สมเหตุสมผล โดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ประกอบกับจำเลยที่ 1 เองก็เบิกความรับว่าได้ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 2 แล้ว เพียงแต่บ่ายเบี่ยงอ้างว่าโจทก์ที่ 2 ยังชำระค่าที่ดินให้จำเลยที่ 1 ไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย เพราะหากโจทก์ที่ 2 ยังชำระค่าที่ดินให้จำเลยที่ 1 ไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 1 ก็น่าจะต้องทวงถามและบอกเลิกสัญญา หรือฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกร้องเงินค่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ที่ 2 แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำเช่นนั้น ตรงกันข้ามข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 และให้เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลทับใต้เปลี่ยนชื่อผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ในใบ ภบท. 5 จากจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ที่ 2 แล้ว ปี 2557 โจทก์ที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ก็เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาตลอด และโจทก์ที่ 1 ได้ทำรั้วล้อมที่ดินพิพาท 3 ด้าน ทั้งเมื่อเจ้าของที่ดินข้างเคียงรื้อรั้วดังกล่าวสูญหายไป 2 ด้าน โจทก์ที่ 1 ก็ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรหัวหิน และเมื่อมีการรังวัดสอบเขตที่ดินของเจ้าของที่ดินข้างเคียงในปี 2559 เจ้าพนักงานที่ดินได้มีหนังสือถึงโจทก์ที่ 1 ในฐานะที่ดินข้างเคียงให้ไประวังแนวเขต ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่จริงตามที่จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน จำเลยที่ 1 น่าจะต้องโต้แย้งคัดค้านการกระทำของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำเช่นนั้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน ว่าจำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในโฉนดที่ดิน เป็นการกระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ในความผิดฐานนี้มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7