คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์กับจำเลยทั้งสิบห้าตกลงประนีประนอมยอมความกันศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสิบห้าไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 93298 โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 4 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวมีชื่อบุคคลภายนอกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจสอบพบว่า ที่ดินพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 นั้น จำเลยที่ 4 โอนให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเนื่องจากแบ่งทรัพย์สินระหว่างสมรสไปแล้วในวันที่ 29 สิงหาคม 2560 การยึดที่ดินพิพาทจึงไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย กับมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดี
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี
จำเลยที่ 4 และนายสัมฤทธิ์ ผู้คัดค้าน ยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า แม้ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 93298 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจะมีชื่อจำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงคนเดียว แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 4 กับผู้คัดค้าน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474 (2) ซึ่งเมื่อทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลยที่ 4 ว่าให้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกเป็นของผู้คัดค้านเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตามมาตรา 1532 และได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นของผู้คัดค้านเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นสิทธิของผู้คัดค้านนับแต่เวลาจดทะเบียนหย่า และถือว่าเป็นสินส่วนตัวของผู้คัดค้าน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1471 (1) ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 อีกต่อไปโจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดมาขายทอดตลาด คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาทและให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมถอนการยึดพร้อมค่าใช้จ่ายจึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า ผู้คัดค้านเป็นสามีที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสิบห้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยทั้งสิบห้ายอมชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีถึงที่สุดแล้วแต่จำเลยทั้งสิบห้าไม่ชำระหนี้ โจทก์ขอให้บังคับคดี โดยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ขอคัดสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 93298 พบชื่อจำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ วันที่ 28 สิงหาคม 2560 ผู้แทนโจทก์ไปยังที่ดินพิพาทเพื่อถ่ายภาพที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมทำแผนที่ทางไปที่ตั้งทรัพย์ พบจำเลยที่ 4 ณ ที่ดินพิพาท วันที่ 31 สิงหาคม 2560 โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาท ณ ที่ทำการ เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ 4 ได้โอนที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเนื่องจากจำเลยที่ 4 จดทะเบียนหย่ากับผู้คัดค้านและมีการแบ่งสินสมรส เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า การยึดที่ดินพิพาทไม่มีผลตามกฎหมาย ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีดังนี้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้การยึดที่ดินพิพาทไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอยึดอสังหาริมทรัพย์ ณ ที่ทำการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ ณ ที่ทำการในวันดังกล่าวตามคำขอของโจทก์ตามคำขอยึดอสังหาริมทรัพย์ ณ ที่ทำการและรายงานการยึดอสังหาริมทรพย์ การยึดทรัพย์ดังกล่าวย่อมมีผลตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยที่ 4 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านไปก่อนในวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ตามคำขอแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ผู้คัดค้านคงมีสิทธิเพียงขอปล่อยทรัพย์ที่ยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน ดังนั้น ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 4 หรือผู้คัดค้านซึ่งได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 4 ก่อนการยึดเพียง 2 วัน จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดหาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะวินิจฉัยเองว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านให้การยึดที่ดินพิพาทไม่มีผลตามกฎหมาย ทั้งในกรณีนี้ตามกฎหมายก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจถอนการยึดทรัพย์ได้เองและเรียกให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีได้ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้การยึดที่ดินพิพาทไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย เรียกให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในชั้นบังคับคดีมานั้น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ