โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากห้องชุดเลขที่ 25/57 อาคารชุด อ. ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 7475, 7477, 40551 ถึง 40555 และส่งมอบห้องชุดดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากห้องชุดของโจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 25/57 อาคารชุด อ. ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 7475, 7477, 40551 ถึง 40555 คืนแก่จำเลยทั้งสอง หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ กับให้โจทก์ส่งมอบหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทฉบับเจ้าของห้องชุดแก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากห้องชุดเลขที่ 25/57 ชั้นที่ 23 อาคารชุด อ. ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 11/2536 ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 7475, 7477, 40551 ถึง 40555 พร้อมส่งมอบห้องชุดพิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราเดือนละ 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 กันยายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากห้องชุดพิพาทจนเสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนฟ้องแย้งให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นออกหมายแจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 2 มกราคม 2566 เมื่อครบกำหนดแล้วปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระ จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น เป็นการทิ้งฎีกาในส่วนฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบด้วยมาตรา 247 ให้จำหน่ายคดีในส่วนฟ้องแย้งออกจากสารบบความศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย หมายเลขแดงที่ ล.1656/2562 จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แถลงขอเข้าว่าคดีเฉพาะส่วนฟ้องแย้งซึ่งเป็นการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีส่วนฟ้องแย้งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่ในส่วนฟ้องขับไล่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยตรง จึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จะดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) ให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะประเด็นฟ้องขับไล่ นั้น เห็นว่า คำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากห้องชุดพิพาทและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธและฟ้องแย้งต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ว่า ห้องชุดพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง คดีฟ้องขับไล่จึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์อันเป็นการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วย โดยหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยทั้งสองหากเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาท โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทคืนแก่จำเลยทั้งสองตามฟ้องแย้ง ดังนั้น การฟ้องขับไล่โดยมีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ห้องชุด จึงเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าว่าคดีนั้นทั้งหมดแทนจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 25 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปโดยยื่นฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะในส่วนเกี่ยวกับฟ้องขับไล่ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทไว้แทนจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อรูปคดีตามคำให้การและฟ้องแย้งกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน จึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น ฎีกาในประเด็นการครอบครองปรปักษ์จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อตามข้อเท็จจริงนั้น โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทที่ได้จดทะเบียนแล้ว ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 โจทก์เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์เป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน จึงมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ซึ่งจากข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองว่าการจดทะเบียนโอนขายห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับคดีให้ขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากร โดยจำเลยที่ 1 มอบหมายให้นายซันจีฟ (MR. SANJEEP) พนักงานของบริษัท พ. ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีจำเลยที่ 1 กับนายฮาริส น้องชายของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัท ทำการโอนเงินจำนวน 230,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9,857,800 บาท ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ เพื่อเป็นหลักฐานทางการเงินของโจทก์ในการนำมาแสดงต่อกรมที่ดินสำหรับการจดทะเบียนซื้อขายห้องชุดพิพาทให้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน โดยไม่ได้ให้โจทก์ชำระค่าซื้อห้องชุดพิพาทอย่างใด เมื่อพิจารณาสำเนารายงานการขายเงินตราต่างประเทศให้ตัวแทนรับอนุญาต ซึ่งระบุว่านายซันจีฟเป็นผู้ส่งเงิน แต่เอกสารดังกล่าวหาได้มีข้อความแสดงหรือสื่อความหมายว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าซื้อห้องชุดพิพาทตามจำนวนเงินที่นายซันจีฟเป็นผู้ส่งเงิน หรือจำเลยที่ 1 ใช้เงินของบริษัท พ. จึงรับฟังได้เพียงเป็นหลักฐานการขายเงินตราต่างประเทศผ่านธนาคารพาณิชย์ตัวแทนที่ได้รับอนุญาตระหว่างนายซันจีฟ ผู้ส่ง กับโจทก์ ผู้ขายเงินตราต่างประเทศเท่านั้น ไม่อาจเป็นหลักฐานแสดงว่านายซันจีฟ โอนเงินของจำเลยที่ 1 หรือบริษัท พ. มาให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการจดทะเบียนขายห้องชุดพิพาทให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน โดยในขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทยังไม่มีระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างด้าวและนิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าว พ.ศ. 2547 ใช้บังคับ การจดทะเบียนซื้อขายห้องชุดพิพาทเป็นไปตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 (5) และแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 ว่า คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ต่อเมื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น ลำพังแต่สำเนารายงานการขายเงินตราต่างประเทศให้ตัวแทนรับอนุญาต จึงเป็นเพียงหลักฐานประกอบการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์คนต่างด้าวเท่านั้น มิใช่หลักฐานการนำเงินของจำเลยที่ 1 หรือจากบริษัท พ. มาใช้เป็นค่าซื้อห้องชุดพิพาทเอง โดยจำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบคำถามค้านเรื่องการขายห้องชุดพิพาทว่า ไม่มีการทำหลักฐานให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทแทนกับไม่มีพยานบุคคลใดรู้เห็น ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่านางสาวอรุณี รู้เห็นเรื่องการโอนเงินของจำเลยที่ 1 นั้น นางสาวอรุณีซึ่งเป็นพนักงานบัญชีของบริษัท พ. บริษัทในเครือที่จดทะเบียนจัดตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทยและเป็นเลขานุการส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 บอกพยานเรื่องให้นายซันจีฟโอนเงิน 230,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9,857,800 บาท จากบริษัท พ. เข้ามาในราชอาณาจักรผ่านธนาคาร ฮ. โดยพยานพาจำเลยที่ 1 กับโจทก์ไปรับเงินจากธนาคาร สำนักงานสาขาในราชอาณาจักรไทย และเบิกความตอบคำถามค้านว่า ตามสำเนารายงานการขายเงินตราต่างประเทศให้ตัวแทนรับอนุญาต ไม่มีรายละเอียดว่าเงินที่ส่งให้โจทก์มาจากบริษัท พ. และหลังจากโจทก์ได้รับเงินที่ส่งมาแล้วได้ออกแคชเชียร์เช็คชำระหนี้จำนองห้องชุดพิพาทให้แก่กองทุนรวม ก. ผู้ที่จะยืนยันว่ามีการโอนเงินค่าห้องชุดพิพาทจากจำเลยที่ 1 เพื่อเปลี่ยนชื่อให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนคือนายซันจีฟ ตามคำเบิกความดังกล่าวแสดงว่านางสาวอรุณีเป็นเพียงได้รับฟังมาว่าการขายเงินตราต่างประเทศตามเอกสารดังกล่าวเป็นเงินของจำเลยที่ 1 เอง เมื่อนายซันจีฟไม่ได้มาเบิกความในคดี จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งมิได้รู้เห็นการส่งเงินตามสำเนารายงานการขายเงินตราต่างประเทศ ไม่อาจนำมารับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 หรือบริษัท พ. เป็นผู้ส่งเงินชำระค่าซื้อห้องชุดพิพาท ส่วนเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 1 เกี่ยวกับการสืบหาทรัพย์สินของโจทก์ในสหราชอาณาจักรเพื่อเป็นหลักฐานว่าโจทก์ไม่อยู่ในฐานะมีเงินพอจะซื้อห้องชุดพิพาทได้ และเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 2 เรื่องการโอนเงินระหว่างนายฮาริส น้องชายของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ นั้น เป็นการอ้างเอกสารเพิ่มเติมจากบัญชีระบุพยานที่ได้ยื่นต่อศาลชั้นต้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยาน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยพยานหลักฐานมาตรา 88 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่อาจนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ กรณีเช่นนี้เมื่อจำเลยที่ 1 นำสืบไม่ได้ว่าสำเนารายงานการขายเงินตราต่างประเทศให้ตัวแทนรับอนุญาต เป็นการชำระค่าซื้อห้องชุดพิพาทโดยจำเลยที่ 1 เอง ก็ต้องฟังว่าโจทก์เป็นผู้ชำระเงินค่าซื้อห้องชุดพิพาท มิฉะนั้นแล้ว การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทและการมีต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทไว้ในครอบครองของโจทก์ย่อมไม่อาจมีขึ้นได้ แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการนำเงินค่าซื้อห้องชุดพิพาทมอบให้แก่นายซันจีฟเพื่อให้ทำหลักฐานการโอนเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือหลักฐานแสดงข้อตกลงระหว่างกันให้มีการซื้อห้องชุดพิพาทคืนต่อไปหากจำเลยที่ 1 มีฐานะดีขึ้น ก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 กลับมีน้ำหนักเหตุผลให้รับฟังได้ เมื่อภาระการพิสูจน์เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กับครอบครัวอยู่อาศัยในห้องชุดพิพาทโดยไม่เก็บค่าเช่าหรือโจทก์ไม่เคยเข้ามาพักอาศัย หาใช่เป็นการยอมรับความเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในห้องชุดพิพาท ซึ่งจำเลยที่ 1 นำสืบอยู่ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันครอบครัวเนื่องจากโจทก์สมรสกับน้องสาวของภริยานายฮาริส และมีปัญหาเรื่องหนี้สิน การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวไม่พอฟังว่าเป็นการกระทำในฐานะของผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน เมื่อจำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำสืบตามที่อ้างให้เห็นว่าโจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทโดยมิได้มีการชำระเงินตามสำเนารายงานการขายเงินตราต่างประเทศให้ตัวแทนรับอนุญาต เนื่องจากเป็นการให้ถือกรรมสิทธิ์แทน แต่พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ได้ตามที่นำสืบ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทตามที่ได้จดทะเบียนซื้อมาจากจำเลยทั้งสอง มิใช่ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ