โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 267, 268, 352 และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 41, 42 (1), (2) ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 500,000 บาท เท่ากับจำนวนหุ้นของโจทก์และให้จำเลยที่ 4 โอนหุ้น 5,000 หุ้น ให้แก่โจทก์ และนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 648/2564 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 649/2564 ของศาลอาญา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาตามฟ้องข้อ 2 เฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาในข้อหาดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ยกฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาตามฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 3 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์ตามฟ้องข้อ 2 มีมูลที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องโจทก์ข้อ 2 แล้วโจทก์ไม่บรรยายว่า ข้อความเท็จในบัญชีผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้างเป็นมูลเพื่อขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ และฐานลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้นั้น มีข้อความอย่างไร หรือเป็นความเท็จด้วยเหตุใด และความจริงเป็นอย่างไร ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมออกใบหุ้นให้แก่โจทก์ โจทก์ก็มิได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยมีหนังสือเรียกประชุมผู้ถือหุ้นให้แก่โจทก์ทราบมาก่อนก็ไม่มีรายละเอียดของการกระทำว่าเป็นการเรียกประชุมครั้งใด เมื่อวันที่เท่าใด อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 41 และ 42 อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ได้อ้างบทบัญญัติความผิดอื่นมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) (6) ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ ส่วนจำเลยที่ 1 แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่หากคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกา เห็นว่าฟ้องข้อ 2 ไม่ชอบ ซึ่งต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงต้องยกฟ้องจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อนี้ด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์ในข้อ 2.1 และข้อ 3 เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์อ้างข้อเท็จจริงรับตามคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องข้อ 2 เป็นความผิดต่อเนื่องกับฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 3 ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าฟ้องข้อ 2 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาข้ออ้างอื่นตามฎีกาโจทก์ และพิเคราะห์จากฟ้องข้อ 2.1 ที่โจทก์บรรยายว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ผู้มีอำนาจหน้าที่รับจดแจ้งรายการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับบริษัทจำกัด โดยจำเลยทั้งสี่ร่วมกันแจ้งต่อนายทะเบียนว่า มีการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1/2561 และครั้งที่ 1/2563 มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หากโจทก์จะอ้างว่าการกระทำตามฟ้องข้อ 2.1 และ ข้อ 3 เป็นการกระทำต่อเนื่องจากฟ้องข้อ 2 ซึ่งบรรยายฟ้องไว้ว่าเหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2560 แต่โดยปกติทั่วไปการประชุมสามัญประจำปี 2561 และปี 2563 ก็ย่อมต้องมีการประชุมในปีนั้น ๆ เมื่อโจทก์บรรยายมาในฟ้องข้อ 2.1 และ ข้อ 3 ว่า การกระทำผิดเกิดจากการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1/2561 และครั้งที่ 1/2563 ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่การกระทำตามฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 3 จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 16กันยายน 2560 โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเวลากระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 3 เกิดขึ้นในวันที่ 5 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2560 ตามที่บรรยายไว้ในฟ้องข้อ 2 ประกอบการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามคำฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 3 ที่โจทก์อ้างถึงตั้งแต่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันโอนหุ้นของโจทก์โดยใช้นายชัยรัตน์ บิดาโจทก์เป็นเครื่องมือนั้นอาจเป็นการกระทำในวันเวลาใดก็ได้ก่อนที่จะมีการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2561 และครั้งที่ 1/2563 แต่ฟ้องโจทก์ข้อ 2.1 และข้อ 3 กลับไม่ได้บรรยายวันเวลาแห่งการกระทำใด ๆ ไว้เลย ฟ้องโจทก์ข้อ 2.1 และ ข้อ 3 จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 สำหรับฟ้องข้อ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์