คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 119139 โดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลชั้นต้นไต่สวนว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 119139 เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 คดีถึงที่สุด
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องสอดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและจัดเก็บภาษีอากร ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 119139 มีชื่อนายรชต์เขตต์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นายรชต์เขตต์มีหนี้ภาษีอากรประเภทเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีมูลค่าเพิ่มค้างชำระแก่ผู้ร้องสอดเป็นเงิน 267,880,741 บาท (ไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) ผู้ร้องสอดประเมินภาษีดังกล่าวและแจ้งแก่นายรชต์เขตต์แล้ว นายรชต์เขตต์อุทธรณ์การประเมินและฟ้องผู้ร้องสอดต่อศาลภาษีอากรกลาง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง นายรชต์เขตต์ยื่นฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิพากษายืน คดีถึงที่สุด ผู้ร้องสอดมีหนังสือให้หน่วยงานของผู้ร้องสอดในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเร่งรัดการจัดเก็บภาษีแก่นายรชต์เขตต์ เนื่องจากตรวจสอบพบว่านายรชต์เขตต์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 10 แปลง รวมที่ดินพิพาท ทำให้ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรบางส่วนเป็นเงิน 884,666.96 บาท คงมีหนี้ภาษีอากรค้างชำระอีก 266,996,074.04 บาท (ไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2551 ผู้ร้องสอดมีคำสั่งให้ยึดที่ดินทั้งหมดรวมที่ดินพิพาท วันที่ 17 ตุลาคม 2560 ผู้ร้องยื่นหนังสือขอให้ผู้ร้องสอดถอนอายัดที่ดินพิพาทอ้างว่า เดิมมารดาของผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2548 นายนิพนธ์ น้องของผู้ร้องเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ นายนิพนธ์กู้ยืมเงินจากบริษัทผู้มีชื่อที่มีนายรชต์เขตต์เป็นผู้จัดการโดยใช้โฉนดที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันและลงชื่อในเอกสารประกอบการกู้ยืมเงิน เมื่อชำระหนี้แล้วนายรชต์เขตต์จะคืนโฉนดที่ดินพิพาทให้ ต่อมานายนิพนธ์ชำระหนี้ครบถ้วน นายรชต์เขตต์ไม่คืนโฉนดที่ดินพิพาทอ้างว่านายนิพนธ์ขายที่ดินแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนายรชต์เขตต์ แต่ไม่สามารถติดต่อนายรชต์เขตต์ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา แต่สำนักงานที่ดินดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการให้ได้เนื่องจากผู้ร้องสอดแจ้งอายัดที่ดินพิพาทไว้ ผู้ร้องสอดมีคำสั่งไม่อนุมัติให้ถอนการยึดและให้ยกคำร้องของผู้ร้อง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้ร้องฟ้องอธิบดีของผู้ร้องสอดกับพวกต่อศาลปกครองนครราชสีมาขอให้เพิกถอนหนังสือของผู้ร้องสอดที่ไม่อนุมัติให้ถอนการยึดที่ดินพิพาท ศาลปกครองนครราชสีมาพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุมัติให้ถอนการยึดที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด คดียังไม่ถึงที่สุด ผู้ร้องสอดมีคำสั่งให้ยึดที่ดินพิพาทไว้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2551 ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยผู้ร้องสอดแจ้งคำสั่งและประกาศให้ยึดที่ดินพิพาทแก่นายรชต์เขตต์เพื่อให้บุคคลดังกล่าวและบุคคลอื่นคัดค้านการยึดแล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกอยู่ภายใต้สิทธิการบังคับชำระหนี้ถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองของผู้ร้องและนายรชต์เขตต์มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการชำระหนี้ภาษีอากรด้วยการสมยอมให้บุคคลอื่นฟ้องคดีเพื่อมิให้ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินจึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องสอดไม่ใช่คู่ความในคดีนี้และไม่ทราบว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิผู้ร้องสอดเจ้าหนี้ภาษีอากรของนายรชต์เขตต์อันเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่เพราะคดีอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำสั่งของศาล หากมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไปยังบุคคลภายนอก ผู้ร้องสอดไม่อาจบังคับชำระหนี้ภาษีอากรได้ขอให้มีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องผู้ร้องสอดไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ถูกโต้แย้งอันจะมีสิทธิร้องสอดในคดีนี้เพื่อขอให้ยกคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้ ประกอบกับผู้ร้องสอดมีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับภาษีอากรค้างชำระตามประมวลรัษฎากรแล้ว จึงไม่อาจร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนได้ตามมาตรา 57 (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)) จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดมีว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 ผู้ร้องสอดอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรยึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 119139 ของนายรชต์เขตต์ เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของนายรชต์เขตต์โดยการครอบครองปรปักษ์เป็นคดีนี้ ประกอบกับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง บัญญัติว่า "เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง อำนาจดังกล่าวอธิบดีจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรเขตก็ได้" ทั้งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ทวิ ได้บัญญัติอันเป็นบทบังคับไว้ว่า "เมื่อได้มีคำสั่งยึดหรืออายัดตามมาตรา 12 แล้ว ห้ามผู้ใดทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดดังกล่าว" จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรนี้เป็นบทบัญญัติพิเศษที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่จะเรียกเก็บภาษีอากรค้างได้โดยสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินได้เองโดยไม่จำต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลและเมื่อมีคำสั่งยึดหรืออายัดแล้ว บุคคลใดจะทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดดังกล่าวไม่ได้ สิทธิของผู้ร้องสอดตามประมวลรัษฎากรจึงถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย เมื่อกฎหมายให้อำนาจแก่ผู้ร้องสอดไว้โดยเฉพาะถึงขนาดนี้แล้ว การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้องถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ ชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องสอดมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องสอดฟังขึ้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องสอดโดยยังไม่ได้ไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องสอดให้สิ้นกระแสความก่อน จึงให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 252 แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องสอดแล้วมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องสอดฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2562 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่