โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1,496,905.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ริบหุ้นของจำเลย หมายเลขหุ้น 142501 ถึง 202500 จำนวน 60,000 หุ้น ออกขายทอดตลาดตามกฎหมาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 916,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มิถุนายน 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบหุ้นของจำเลย หมายเลขหุ้น 142501 ถึง 202500 จำนวน 60,000 หุ้น ออกขายทอดตลาดตามกฎหมายนำเงินมาชำระแก่โจทก์ โดยจำเลยไม่ต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ผสมหรือแบ่งบรรจุหรือผลิตน้ำยาล้างทำความสะอาดผิวโลหะหรือน้ำยาเคลือบผิวโลหะ มีนายสรธภพผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ 60,000 หุ้น เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2547 ผู้ถือหุ้นและบริษัทโจทก์ร่วมกันทำข้อตกลงเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของผู้เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการบริษัท การถอนหุ้น ตลอดจนการห้ามผู้ถือหุ้นทำการค้าขายแข่งขันกับบริษัทโจทก์ ซึ่งอาจทำให้บริษัทโจทก์ได้รับความเสียหาย รวมทั้งบทลงโทษสำหรับผู้ถือหุ้นที่ฝ่าฝืน กฎผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์ดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลย ตามกฎผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์ ข้อ 6 ระบุว่า ผู้ถือหุ้นท่านใดกระทำการแข่งขันรวมถึงสนับสนุนบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งของบริษัทและหรือก่อตั้งบริษัทซึ่งกระทำธุรกิจประเภทเดียวกับบริษัท ซึ่งส่งผลให้บริษัทเกิดความเสียหายทั้งทางตรงและหรือทางอ้อม ทั้งปัจจุบันและอนาคตถือว่าผู้ถือหุ้นท่านนั้นหมดสิทธิจากสภาพการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท รวมถึงยินยอมให้ริบหุ้นทั้งหมดที่ครอบครองอยู่และยินยอมชดใช้ค่าปรับอีกหนึ่งร้อยเท่าของความเสียหายที่ประเมินได้ ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 จำเลยจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ท. มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายมีรายได้ลดลงเพียงใด เมื่อพิจารณาทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างแล้ว หุ้นซึ่งจำเลยถือทั้งหมดมูลค่า 600,000 บาท น่าจะพอสมควรแก่ความเสียหายที่โจทก์ได้รับ จึงให้ริบหุ้นทั้งหมดของจำเลยเพียงประการเดียว แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1143 บัญญัติห้ามมิให้บริษัทจำกัดเป็นเจ้าของถือหุ้นตนเอง จึงให้ริบหุ้นของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดตามกฎหมาย และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบหุ้นของจำเลยหมายเลขหุ้น 142501 ถึง 202500 จำนวน 60,000 หุ้น ออกขายทอดตลาดตามกฎหมายนำเงินมาชำระแก่โจทก์ โดยจำเลยไม่ต้องชำระเงินตามมูลค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์ไม่ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แสดงว่า โจทก์พอใจในจำนวนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดโดยพิจารณาตามมูลค่าหุ้นของจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อแรกว่า การเปิดบริษัท ท. ของจำเลย เป็นการค้าขายแข่งขันกับบริษัทโจทก์ตามข้อห้ามที่ระบุในกฎผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยเปิดบริษัทใหม่เป็นการประกอบอาชีพโดยสุจริตเพราะกรรมการบริษัทโจทก์ทำการทุจริตปลดจำเลยออกจากการเป็นพนักงานบริษัทโจทก์ เป็นเหตุให้จำเลยไม่มีรายได้ใด ๆ การที่ลูกค้าบริษัทโจทก์มาซื้อสินค้าจากบริษัทจำเลยเพราะทราบเรื่องความขัดแย้งกันในบริษัทโจทก์ จึงประสงค์เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนการค้าของจำเลย มิใช่เกิดจากการที่จำเลยทำการค้าขายแข่งขันกับบริษัทโจทก์ ปัญหานี้โจทก์มีนายสรธภพผู้รับมอบอำนาจเบิกความว่า จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ จำเลยก่อตั้งบริษัท ท. มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการจำหน่ายสารเคมีและผลิตภัณฑ์เคมี ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์เป็นอย่างเดียวกับโจทก์ เพื่อประโยชน์ในการแข่งขันทางธุรกิจการค้ากับโจทก์ บุคคลทั่วไปที่จำเลยค้าขายด้วยเข้าใจว่าเป็นสินค้าของบริษัทโจทก์ จำเลยขายสินค้าของบริษัท ท. ของจำเลยให้แก่ลูกค้าของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยให้การรับว่าบุคคลที่ติดต่อค้าขายกับจำเลยส่วนใหญ่ต่างทราบเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นในบริษัทโจทก์และต่างเต็มใจและเห็นใจที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนจำเลย ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยจัดตั้งบริษัท ท. ภายหลังจากที่จำเลยถูกปลดออกจากการเป็นพนักงานของบริษัทโจทก์แล้ว แต่จำเลยยังมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์ ผลประกอบการของบริษัท ท. ยังคงขาดทุน ไม่ได้มีผลกำไรตามคำฟ้อง เห็นว่า วันที่ 12 พฤษภาคม 2557 จำเลยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ท. ขณะนั้นจำเลยยังคงมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์ เมื่อจำเลยให้การรับว่า บุคคลที่ติดต่อค้าขายกับจำเลยส่วนใหญ่ต่างทราบเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ ทั้งต่างเต็มใจและเห็นใจที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนจำเลย เท่ากับจำเลยรับว่าลูกค้าของบริษัท ท. ที่จำเลยจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นลูกค้าของบริษัทโจทก์ด้วย แม้สถานที่ตั้งของบริษัทโจทก์และบริษัท ท. ที่จำเลยจัดตั้งขึ้นจะมีสถานที่ตั้งต่างพื้นที่กัน โดยบริษัทโจทก์มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนบริษัท ท. ของจำเลยมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครก็ตาม แต่การที่ลูกค้าของบริษัททั้งสองซึ่งอยู่ต่างพื้นที่กันเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกันกลับเป็นข้อบ่งชี้ว่า บริษัท ท. ของจำเลย สามารถประกอบกิจการค้าแข่งขันกับการประกอบกิจการของบริษัทโจทก์ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ จำเลยมิได้ปฏิเสธว่าบริษัท ท. ประกอบธุรกิจต่างประเภทกับธุรกิจของบริษัทโจทก์ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์การประกอบธุรกิจและฐานลูกค้าของบริษัททั้งสองประกอบกันแล้ว ย่อมรับฟังได้ว่า การเปิดบริษัท ท. ของจำเลยเป็นการค้าขายแข่งขันกับบริษัทโจทก์อันเป็นข้อห้ามที่ระบุในกฎผู้ถือหุ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ริบหุ้นของจำเลยที่ถืออยู่ในบริษัทโจทก์ชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายจากการริบหุ้นของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำมาชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการกำหนดค่าเสียหายเกินกว่าความเป็นจริง การกำหนดเบี้ยปรับเป็นการริบหุ้นไม่เหมาะสมกับความเสียหายที่โจทก์ได้รับนั้น
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กฎผู้ถือหุ้น ข้อ 6. ระบุถึงผลแห่งการที่ผู้ถือหุ้นทำการก่อตั้งบริษัทซึ่งกระทำธุรกิจประเภทเดียวกันกับบริษัทซึ่งส่งผลให้บริษัทเกิดความเสียหายว่า ผู้ถือหุ้นดังกล่าวยินยอมให้ริบหุ้นส่วนทั้งหมดที่ครอบครองอยู่และยินยอมชดใช้ค่าปรับอีกหนึ่งร้อยเท่าของความเสียหายที่ประเมินได้ และหรือความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินได้ซึ่งความเสียหายประเภทนี้จะใช้การคาดการณ์ความเสียหายเป็นมูลค่าแทน ข้อตกลงเช่นนี้เป็นการกำหนดให้ผู้ถือหุ้นต้นเหตุหมดสิทธิจากบริษัทอันเป็นการชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทเมื่อผู้ถือหุ้นนั้นล่วงละเมิดข้อตกลงในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันที่จะไม่กระทำการค้าขายแข่งขันกับบริษัทซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกิดจากความสมัครใจและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะ สามารถใช้บังคับได้ เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นล่วงละเมิดข้อตกลงในระหว่างผู้ถือหุ้นกระทำการเปิดบริษัท ท. ค้าขายแข่งขันกับบริษัทโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามข้อตกลง หาใช่เป็นการกำหนดเบี้ยปรับด้วยการริบหุ้นซึ่งไม่เหมาะสมกับความเสียหายที่โจทก์ได้รับดังที่จำเลยฎีกาไม่ ปัญหาต่อไปจึงมีว่าโจทก์เสียหายเพียงใดนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าคิดเทียบจากกำไรของบริษัท ท. ในปี 2557 และปี 2558 แต่เมื่อพิจารณางบกำไรขาดทุนดังกล่าวกลับปรากฏว่า ในปี 2557 และปี 2558 บริษัท ท. มีผลประกอบการขาดทุน 891,041.31 บาท และ 605,864.68 บาท ตามลำดับ จึงไม่อาจนำงบกำไรขาดทุนดังกล่าวมาคิดเทียบเพื่อพิจารณาค่าเสียหายที่โจทก์ควรมีสิทธิได้รับจากการทำการค้าขายแข่งขันของจำเลยได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์การประกอบธุรกิจและลูกค้าของบริษัทจำเลยซึ่งมาจากกลุ่มลูกค้าของโจทก์ย่อมส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของโจทก์โดยตรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วยการให้โจทก์ริบหุ้นซึ่งจำเลยถืออยู่ในบริษัทโจทก์นำออกขายทอดตลาดเหมาะสมแล้ว และเมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเพิ่มเติมแก่โจทก์อีกซึ่งนับว่าเป็นคุณแก่จำเลย การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวจึงไม่เกินกว่าความเป็นจริงดังที่จำเลยฎีกา การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ริบหุ้นของจำเลยที่ถืออยู่ในบริษัทโจทก์นำออกขายทอดตลาดนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ