โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 180, 246, 267
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน.
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่สมควรต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัด จำเลยที่ 1 จึงเป็นพระภิกษุซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ ถือเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 45 ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์บรรยายฟ้องว่า มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดชุมพร ซึ่งตามคำสั่งสำนักงานพระพุทธศาสนาที่ 391/2561 เรื่อง ย้ายข้าราชการ และบัญชีรายละเอียดการย้ายข้าราชการแนบท้ายคำสั่งดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดชุมพร และได้รับเงินเดือนตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ.2551 จำเลยที่ 2 จึงเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐตามความหมายเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 4 จำเลยทั้งสองจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีและขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีอาญาให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 และมาตรา 7 เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 10 ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาพิพากษา ประกอบกับพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน ที่ตั้ง เขตศาล และวันเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค พ.ศ.2560 มาตรา 3 บัญญัติว่า ให้มีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค จำนวน 9 ศาล...(8) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 มีเขตศาลใน...จังหวัดชุมพร...และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว บัญญัติให้เปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2560 เป็นต้นไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 อันเป็นวันภายหลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 เปิดทำการแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์และฎีกาอ้างว่า โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) เพียงแต่ระบุเลขมาตราผิด โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ เห็นว่า ความผิดดังกล่าวก็ยังเป็นคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงชอบที่จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ของโจทก์เสีย และโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฎีกา ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์มา ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8