โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83, 92พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508มาตรา 18, 21
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่สำนวนมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83 วรรคสอง, 92 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 มาตรา 18, 21ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 คำสั่งกรมสรรพากรที่ กค.0809/11147เรื่องให้ผู้ประกอบการค้าแจ้งมูลค่าทางสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ลงวันที่ 26 กันยายน 2509 รวม 98 กรรม เรียงกระทงลงโทษ ให้ปรับกระทงละ 6,000 บาท รวมปรับ 588,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมีนายมานะพิทยาภรณ์ ทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ แต่ไม่ปรากฏในสำนวนว่าจำเลยได้แต่งตั้งบุคคลผู้นี้เป็นทนายจำเลยไว้ ดังนั้นนายมานะ พิทยาภรณ์ จึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการอุทธรณ์แทนจำเลยได้ คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่สำนวนจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ไม่ได้ พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยทั้งสี่สำนวน
จำเลยทั้งสี่สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าการที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตตามคำร้องของทนายจำเลย ฉบับลงวันที่ 22 และ 24 พฤศจิกายน 2533แล้ว ย่อมแสดงว่าศาลชั้นต้นได้ตรวจใบแต่งทนายที่จำเลยตั้งนายมานะ พิทยาภรณ์ เป็นทนายของจำเลยแล้ว จำเลยจึงยืนยันว่าได้ยื่นใบแต่งทนายตั้งนายมานะเป็นทนายจำเลยแล้วที่ใบแต่งทนายจำเลยไม่ปรากฏในสำนวนอาจจะเกิดการสูญหาย มีผู้กลั่นแกล้งดึงออกจากสำนวนหรือตกหล่นก็ได้ เพราะสำนวนของศาลชั้นต้นในแต่ละวันมีจำนวนมากนั้นเห็นว่า จำเลยกล่าวอ้างเลื่อนลอยไม่ได้ยืนยันโดยชัดแจ้งว่ายื่นวันเวลาใด ไม่มีสำเนาใบแต่งทนายเป็นหลักฐานประกอบข้อกล่าวอ้างนายมานะยื่นคำร้องประกอบใบมอบฉันทะให้เสมียนทนายมาฟังคำพิพากษาและถ่ายคำพิพากษาแทนเป็นครั้งแรกในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2533ไม่ปรากฏว่ามีใบแต่งทนายที่จำเลยตั้งนายมานะเป็นทนายของจำเลยอยู่ในสำนวนศาลชั้นต้น เลขอันดับ รายการจำนวนแผ่นตามสารบาญก็ตรงกับสำนวน หากจำเลยยื่นใบแต่งทนายพร้อมคำร้องในวันดังกล่าวใบแต่งทนายย่อมจะต้องถูกกลัดรวมไว้ในสำนวนพร้อมคำร้องและใบมอบฉันทะดังกล่าว ไม่มีเหตุที่จะสูญหายด้วยเหตุดังที่จำเลยคาดเดาและโยนความผิดให้ผู้อื่นอย่างง่าย ๆ เช่นนั้น ข้อเท็จจริงไม่พอฟังว่าจำเลยได้ยื่นใบแต่งทนายตั้งนายมานะให้เป็นทนายของจำเลยต่อศาลชั้นต้นแล้ว ดังนั้นคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งนายมานะลงชื่อในฐานะทนายจำเลยโดยไม่ได้ยื่นใบแต่งทนายเข้ามาในสำนวนศาลย่อมเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมานั้นเป็นเรื่องผิดระเบียบศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการให้จำเลยลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์เสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ใช้ดุลพินิจให้จำเลยแก้ไขข้อผิดระเบียบเสียก่อนจึงมีปัญหาว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่สมควรแล้วหรือไม่ เห็นว่า นายมานะยื่นคำร้องและใบมอบฉันทะให้เสมียนทนายฟังคำพิพากษาและถ่ายคำพิพากษาแทนนายมานะในฐานะทนายจำเลย ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตโดยไม่ปรากฏว่ามีใบแต่งทนายที่จำเลยตั้งนายมานะเป็นทนายจำเลยยื่นเข้ามาในสำนวน เป็นเหตุให้นายมานะเข้าใจว่าจำเลยยื่นใบแต่งทนายตั้งนายมานะเป็นทนายจำเลยต่อศาลชั้นต้นแล้ว จึงได้ทำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นต่อศาลโดยไม่ได้ยื่นใบแต่งทนายเข้ามาเสียให้ถูกต้อง และเมื่อศาลชั้นต้นตรวจรับอุทธรณ์ก็ไม่ปรากฏว่าได้ทักท้วงว่า จำเลยมิได้ยื่นใบแต่งทนายตั้งนายมานะเป็นทนายจำเลยเพื่อคืนคำฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยไปทำมาใหม่หรือแก้ไขเสียให้ถูกต้อง พฤติการณ์ของนายมานะดังกล่าวเห็นได้ว่ามิใช่จำเลยจงใจประวิงคดีหรือเอาเปรียบในเชิงคดี จึงมีเหตุอันสมควรที่จะสั่งให้จำเลยแก้ไขข้อผิดระเบียบนั้นเสียก่อนการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจพิพากษายกคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่สั่งให้จำเลยแก้ไขข้อผิดระเบียบนั้นเสียก่อน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่สมควร ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ดุลพินิจศาลอุทธรณ์เสียใหม่ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้ออื่นอีกต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นจัดการให้จำเลยลงชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์ในฐานะผู้อุทธรณ์ แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่