โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมกิจ ชำระเงิน 3,732,076.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมกิจ แบ่งเงินในบัญชีเงินฝากชื่อบัญชี นายสมกิจ ธนาคาร อ. และธนาคาร ก. รวมทั้งสิ้น 5 บัญชี ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1,535,342 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นคนละ 1 ส่วนใน 3 ส่วน นับแต่วันที่ปรับปรุงรายการในสมุดบัญชีเงินฝากครั้งสุดท้าย ธนาคาร อ. บัญชีเลขที่ 02004189xxxx นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 และบัญชีเลขที่ 30003376xxxx นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2561 ธนาคาร ก. บัญชีเลขที่ 032 – 1 – 17xxx - x นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2562 บัญชีเลขที่ 368 – 2 – 40xxx - x นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2561 และบัญชีเลขที่ 368 – 2 – 00xxx - x นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับแบ่งเงินเสร็จสิ้น และแบ่งเงินที่ได้จากนายธานินทร์ กู้ยืมไปให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 317,333.33 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมกิจ แบ่งเงินในบัญชีเงินฝากชื่อบัญชี นายสมกิจ ธนาคาร อ. และธนาคาร ก. รวมทั้งสิ้น 5 บัญชี ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 1,390,038.47 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองอยู่กินฉันสามีภริยากับนายสมกิจ ผู้ตาย โดยโจทก์ที่ 1 อยู่กินกับผู้ตายตั้งแต่ปี 2509 มีบุตรด้วยกัน 7 คน โจทก์ที่ 2 อยู่กินกับผู้ตายตั้งแต่ปี 2515 มีบุตรด้วยกัน 5 คน ต่อมาปี 2521 ผู้ตายอยู่กินกับนางสาวอนันต์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนางสาวอนันต์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2561 ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ผู้ตายมีทรัพย์สินคือเงินฝากในบัญชีธนาคาร 5 บัญชี เป็นเงินทั้งสิ้น 4,646,115.42 บาท นายธานินทร์ บุตรของผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 ทำหนังสือแจ้งความจำนงขอผ่อนชำระเงินที่ยืมมาจากผู้ตายเป็นค่าสินสอด 1,000,000 บาท คงค้างชำระ 952,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องแบ่งเงินที่นายธานินทร์กู้ยืมไปจากผู้ตายให้แก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด เห็นว่า ตามหนังสือแจ้งความจำนงชำระเงินที่ยืมมาเป็นค่าสินสอด มีข้อความว่า นายธานินทร์ ได้ยืมเงินค่าสินสอดจากผู้ตาย จำนวน 1,000,000 บาท โดยผู้ตายให้นายธานินทร์ผ่อนชำระเดือนละ 4,000 บาท จนเดือนสิงหาคม 2561 ผู้ตายถึงแก่ความตาย นายธานินทร์ผ่อนชำระเงินไปแล้ว 48,000 บาท คงเหลือ 952,000 บาท และจะขอผ่อนชำระกับโจทก์ทั้งสองเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ และนายธานินทร์ได้เบิกความยอมรับว่าเป็นผู้ทำเอกสาร ดังกล่าวด้วยตนเองโดยทำขึ้นหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เหตุที่ทำเอกสารดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ทั้งสองทวงถามเงินสินสอดจากนายธานินทร์ เมื่อนายธานินทร์มีความรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ค่าสินสอดแก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 วรรคสอง จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้นายธานินทร์ชำระหนี้แก่กองมรดกเท่านั้น สิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่อาจแบ่งแยกแก่โจทก์ทั้งสองได้ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย นายธานินทร์ได้ชำระเงินคืนแก่กองมรดกเพียงใด จึงยังไม่มีตัวเงินในส่วนนี้ที่จะแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกต้องไปว่ากล่าวเรียกร้องให้นายธานินทร์ชำระหนี้แก่กองมรดกเพื่อรวบรวมและแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสองต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองนำหนี้ของนายธานินทร์ดังกล่าวไปรวมกับเงินฝากในบัญชีธนาคารทั้ง 5 บัญชีตามฟ้องแล้วแบ่งให้โจทก์ทั้งสองจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้ออื่นไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดยอดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารตามฟ้องรวม 5 บัญชีเป็นเงิน 4,646,115.42 บาท เกินกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด ทั้งที่โจทก์ทั้งสองมิได้อุทธรณ์ จึงเป็นการกำหนดยอดเงินที่ไม่ชอบ เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นยอดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวม 5 บัญชี เป็นเงิน 4,606,027.02 บาท นอกจากนี้คดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินในแต่ละบัญชีของผู้ตายนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคนละ 1 ใน 3 ส่วน นับแต่วันที่ปรับปรุงรายการในสมุดบัญชีเงินฝากครั้งสุดท้าย ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ตามที่โจทก์ขอ ธนาคาร อ. บัญชีเลขที่ 020 – 0 – 4189xxx - x นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 และบัญชีเลขที่ 300 – 0 – 3376xxx - x นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2561 ธนาคาร ก. บัญชีเลขที่ 032 – 1 – 17xxx – x นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2562 บัญชีเลขที่ 368 – 2 – 40xxx – x นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2561 และบัญชีเลขที่ 368 – 2 – 00xxx – x นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับแบ่งเงินเสร็จสิ้น จึงเกินคำขอของโจทก์เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมกิจ แบ่งเงินในบัญชีเงินฝากชื่อบัญชี นายสมกิจ ธนาคาร อ. และธนาคาร ก. รวมทั้งสิ้น 5 บัญชี ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 1,535,342.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราตามบัญชีเงินฝากในธนาคารแต่ละธนาคารประกาศกำหนดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ