โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 553,734.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 545,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับโจทก์ชำระเงิน 582,806.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 567,806.50 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง และให้โจทก์ชำระค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่อัตราเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์จะรับสินค้าไปจากจำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง (ที่ถูก และฟ้องแย้ง) ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการค้าเครื่องสำอาง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการให้บริการผลิตเครื่องสำอาง มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อเดือนธันวาคม 2560 โจทก์ว่าจ้างจำเลยทั้งสองผลิตสินค้าประเภทเครื่องสำอางและบรรจุภัณฑ์แบบเบ็ดเสร็จ 3 รายการ คือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวพรรณ (Cleansing Balm) ขนาด 90 กรัม 5,000 ชิ้น ครีมกันแดด ขนาด 35 กรัม 3,000 ชิ้น และครีมทาผิวหน้าและตา (Eye and Face Cream) ขนาด 20 กรัม 3,000 ชิ้น รวมค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าจ้างเป็นเงิน 1,300,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โจทก์ชำระเงินมัดจำแก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 500,000 บาท และค่ายื่นขอเครื่องหมายอนุมัติการให้บริการหรือจำหน่ายใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลามหรือหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล 45,000 บาท จำเลยที่ 1 ออกแบบบรรจุภัณฑ์และหีบห่อของเครื่องสำอางทั้ง 3 รายการ ไม่เป็นที่พอใจของโจทก์ จึงตกลงกันให้โจทก์เป็นฝ่ายออกแบบเอง แล้วจำเลยที่ 1 นำแบบที่โจทก์ออกแบบไว้ไปจัดพิมพ์ข้อความ ลายเส้น และตัวอักษรลงบนบรรจุภัณฑ์และหีบห่อของเครื่องสำอาง แต่ไม่สามารถกระทำจนสำเร็จได้ เนื่องจากการพิมพ์ไม่มีความคมชัด สีหลุดล่อน ไม่มีความคงทน วันที่ 12 มกราคม 2562 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญา และเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินมัดจำและค่าดำเนินการขอหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลคืน ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 จำเลยทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ และเรียกให้โจทก์มารับวัสดุอุปกรณ์ไปจากโรงงาน และชำระค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ที่ตระเตรียมไว้สำหรับผลิตเครื่องสำอางแก่จำเลยทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์กับจำเลยทั้งสองสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันหรือไม่ เห็นว่า สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางแบบเบ็ดเสร็จระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ถือเอาผลสำเร็จของงานคือโจทก์สามารถนำเครื่องสำอางที่ว่าจ้างจำเลยทั้งสองผลิตไปวางจำหน่ายในท้องตลาดได้ ซึ่งในการผลิตเครื่องสำอางดังกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์และจำเลยทั้งสองตรงกันว่า จำเลยทั้งสองผู้รับจ้างเป็นผู้ผลิตทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่คิดค้นพัฒนาสูตรเครื่องสำอาง ขออนุญาตหรือจดแจ้งการผลิตต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผลิตเครื่องสำอาง คิดชื่อผลิตภัณฑ์ ออกแบบเครื่องหมาย (โลโก้) รวมทั้งออกแบบและผลิตหลอดเครื่องสำอาง กล่อง บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนทำการบรรจุเครื่องสำอางลงในกล่องหรือบรรจุภัณฑ์พร้อมสำหรับวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป จึงเห็นได้ว่าการออกแบบหลอดและบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นขั้นตอนการผลิตที่สำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงามเป็นที่สนใจของลูกค้าสมกับเป็นเครื่องสำอางที่มีคุณภาพและราคาระดับสูงตามความประสงค์ของผู้ว่าจ้าง แต่จำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินขั้นตอนนี้ให้แล้วเสร็จได้ โดยได้ความจากนางสาวกนกวรรณ กรรมการโจทก์ผู้ติดต่อว่าจ้างจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองได้ออกแบบมาให้โจทก์พิจารณาครั้งแรก เป็นการออกแบบโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ไม่มีความสวยงามและไม่มีเอกลักษณ์ ทั้งยังทำงานล่าช้ามาก โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองแก้ไขแล้ว แต่ยังคงออกแบบมาในลักษณะเดิม โจทก์จึงต้องออกแบบเอง แล้วให้จำเลยทั้งสองไปจัดพิมพ์ตามที่โจทก์ออกแบบไว้ แต่การพิมพ์ข้อความลงบนหลอดและกระปุกเครื่องสำอางยังคงไม่สวยงามและไม่มีความคมชัด แสดงถึงการพิมพ์ที่ไม่มีคุณภาพ ทั้งที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเครื่องพิมพ์ที่ใช้เป็นชนิดเดียวกับที่ใช้พิมพ์หลอดเครื่องสำอางที่วางขายในห้างสรรพสินค้าหรือเคาน์เตอร์แบรนด์ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็นำสืบรับว่า จำเลยทั้งสองได้จัดพิมพ์ข้อความ ลายเส้น และตัวอักษรลงบนบรรจุภัณฑ์และหีบห่อตามที่โจทก์ออกแบบมา แต่สีหลุดล่อนและไม่มีความคงทนถาวรจริง เพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่าวิธีการพิมพ์และสีสันอาจไม่เหมาะสมจึงทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าวเท่านั้น จึงรับฟังได้ว่า เหตุความบกพร่องของการพิมพ์ที่ทำให้งานไม่แล้วเสร็จอยู่ในขั้นตอนความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสอง และยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่จำเลยทั้งสองจะทำให้สำเร็จได้ ดังนั้น แม้ทางนำสืบของโจทก์จะไม่ได้ความชัดว่า จำเลยทั้งสองจะต้องผลิตเครื่องสำอางตามสัญญาว่าจ้างให้แล้วเสร็จเมื่อใด อันถือได้ว่าสัญญาไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถผลิตเครื่องสำอางให้แล้วเสร็จตามสัญญาว่าจ้างได้โดยแน่แท้ด้วยเหตุข้างต้น จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาดังกล่าวได้ กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตราบใดที่การที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 และมาตรา 386 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองย่อมเป็นอันสิ้นสุดลง แม้ต่อมาจำเลยทั้งสองจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ในภายหลัง ก็ไม่มีผลเป็นการเลิกสัญญาได้อีก กรณีหาใช่เป็นการที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง และโจทก์ต้องชำระเงินแก่จำเลยทั้งสองตามฟ้องแย้งหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ย่อมมีผลให้โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองทำการงานให้แก่โจทก์แล้วบางส่วน จึงไม่อาจกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้นั้น การที่จะชดใช้คืน ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้เถียงกันเกี่ยวกับการงานที่ได้ทำไปแล้ว กรณีจึงมีข้อพิจารณาว่า ค่าแห่งการงานที่จำเลยทั้งสองทำให้โจทก์นั้นมีเพียงใด เห็นว่า สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางแบบเบ็ดเสร็จที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการเฉพาะ มุ่งประสงค์ถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ คือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมที่โจทก์สามารถนำไปวางจำหน่ายได้ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังไม่เคยผลิตเครื่องสำอางเป็นผลสำเร็จและส่งมอบผลงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้แม้แต่ชิ้นเดียว แม้จำเลยทั้งสองจะได้ดำเนินการคิดค้น วิเคราะห์วิจัย และพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้โจทก์จนสามารถนำไปขอจดแจ้งต่อนายทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตไว้บ้างแล้วก็ตาม แต่ได้ความจากจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า สูตรในการผลิตเครื่องสำอางดังกล่าว ตลอดจนส่วนประกอบหรือส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตนั้นจำเลยทั้งสองไม่ได้บอกให้โจทก์ทราบ เนื่องจากต้องเก็บไว้เป็นความลับ หากโจทก์ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางที่จำเลยทั้งสองคิดค้น จะต้องว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ผลิตเท่านั้น แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า โจทก์ไม่สามารถนำสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำเลยทั้งสองคิดค้น ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตที่จำเลยทั้งสองตระเตรียมไว้ไปใช้ประโยชน์หรือว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการผลิตต่อให้แล้วเสร็จได้เลย ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการงานที่จำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าแห่งการงานส่วนนี้ให้จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 508,013 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สำหรับค่าดำเนินการขอหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล 45,000 บาท นั้น มีลักษณะเป็นงานเพิ่มที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยทั้งสองทำต่างหากนอกเหนือจากการขออนุญาตหรือจดแจ้งการผลิตต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องตามสัญญาว่าจ้าง เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งสองดำเนินการให้โจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่กำหนดให้จำเลยทั้งสองคืนเงินส่วนนี้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ต้องชดใช้เงินที่จำเลยทั้งสองจ่ายไปในการตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ ตลอดจนเป็นค่าจ้างในขั้นตอนการผลิตและพัฒนาสินค้ารวม 1,067,806.50 บาท และค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของจำเลยทั้งสองสำหรับจัดวางวัสดุอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์เดือนละ 5,000 บาท จนกว่าโจทก์จะขนย้ายของออกไปจากโรงงานของจำเลยทั้งสอง และนำมาหักกลบลบหนี้กับเงินมัดจำ 500,000 บาท ที่ต้องคืนให้แก่โจทก์ได้นั้น เป็นการเรียกค่าเสียหายจากการเลิกสัญญา เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากโจทก์และนำมาหักกลบลบหนี้ได้ดังที่อ้าง จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนเงินมัดจำ 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่ได้รับไว้ แต่โจทก์ขอนับแต่วันผิดนัด (วันที่ 26 มีนาคม 2562) จึงกำหนดให้ตามที่โจทก์ขอ สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำการภายในขอบอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี" และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี.." ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2562 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งชั้นฎีกาให้เป็นพับ