โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,323,707.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,196,571.80 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 1,196,571.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่หากโจทก์ได้รับการชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีหมายเลขดำที่ อ.2254/2561 หมายเลขแดงที่ อ.2904/2561 ตามเอกสารหมาย ล.4 เป็นเงินจำนวนเท่าใดก็ให้นำเงินจำนวนนั้นมาหักออกจากต้นเงินจำนวน 1,196,571.80 บาท ในคดีนี้ในวันที่โจทก์ได้รับเงินมาด้วย กับให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับทรัพย์มรดกของนางหรรษา ผู้ตาย ผู้ตายได้เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาสำนักนานาเหนือ โดยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยที่ 1 นำเอกสารปลอมสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของศาลจังหวัดนครนายก ไปดำเนินการเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตาย ธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาสำนักนานาเหนือ เบิกถอนเงิน 1,196,571.80 บาท จากบัญชีเงินฝากของผู้ตายไปเข้าบัญชีธนาคารอื่นของจำเลยที่ 1 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 2904/2561 ว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมเพื่อลักเอาเงินจากบัญชีของผู้ตาย ลงโทษจำคุกและให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 1,196,571.80 บาท แก่โจทก์ คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาดังกล่าว ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ การเบิกถอนโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องตรวจสอบความถูกต้อง และใช้ความระมัดระวังในการเบิกถอนโอนเงินจากบัญชีเงินฝากยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วไป เพื่อมิให้เกิดความเสียหายกระทบต่อความเชื่อถือไว้วางใจในการประกอบกิจการธนาคาร แต่กลับได้ความตามคำเบิกความของนางสาวดาเรศ พยานจำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พยานเพียงตรวจสอบเอกสารที่จำเลยที่ 1 นำมาแสดงว่ามีครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบก่อนส่งให้หัวหน้าตรวจสอบ พยานไม่ได้สอบถามจำเลยที่ 1 ว่า ใครเป็นผู้จัดการมรดกของนางหรรษา พยานเพียงดูคำสั่งศาลจังหวัดนครนายกที่จำเลยที่ 1 นำมาแสดงเท่านั้น และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามติงว่า ตามระเบียบของธนาคารจำเลยที่ 2 ไม่มีระบุว่าให้พยานไปตรวจสอบคำสั่งศาล เพราะสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกที่จำเลยที่ 1 นำมาแสดงในวันดังกล่าวมีตราประทับของศาล และในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังมีหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดมาแสดงด้วย และนายนันธวัช พยานจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าส่วนสาขาสำนักนานาหนือ เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เมื่อพยานได้รับเอกสารจากนางสาวดาเรศแล้ว พยานได้ตรวจเอกสารแต่ไม่ได้มีการตรวจสอบไปยังศาลแต่อย่างใด ทั้งที่ตามระเบียบปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ข้อ 6.1.1 ระบุชัดว่า กรณีผู้จัดการมรดก ทายาทของเจ้าของบัญชีที่ถึงแก่กรรมมาติดต่อขอถอนเงินเพื่อปิดบัญชีเงินฝาก ให้สาขาเจ้าของบัญชีตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐาน อันรวมถึงคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือสำเนาคำสั่งที่มีการรับรองสำเนาโดยเจ้าหน้าที่ศาลให้ถูกต้องครบถ้วน ก่อนดำเนินการถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าว ดังนี้ การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบปฏิบัติงานดังกล่าวนั้น มีความหมายชัดเจนว่าพนักงานของจำเลยที่ 2 ต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ผู้จัดการมรดกหรือทายาทของเจ้าของบัญชีนำมาแสดงว่าถูกต้องหรือไม่ หากเป็นสำเนาเอกสารก็ต้องตรวจสอบว่าถูกต้องตรงกับเอกสารที่แท้จริง มิใช่เพียงตรวจสอบว่าเป็นประเภทเอกสารหรือมีจำนวนเอกสารครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในระเบียบปฏิบัติงานเท่านั้นดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเป็นเอกสารปลอม ซึ่งศาลฎีกาตรวจดูสำเนาคำสั่งดังกล่าวแล้ว เห็นว่า หน้าแรกในส่วนเนื้อหาของคำสั่งมีการจัดเรียงย่อหน้าที่หนึ่งและที่สองไม่ตรงกันอย่างเห็นได้ชัด ผิดแผกแตกต่างจากรูปแบบคำสั่งศาล และหน้าอื่นยังมีข้อความที่พิมพ์ตกหล่นหลายแห่ง โดยเฉพาะหน้าสุดท้ายบรรทัดที่ 9 และที่ 10 ย่อหน้าสุดท้ายในส่วนคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ระบุว่า ...ให้ตั้งนายณัฐชัย ผู้ร้องเป็นผู้จัดการของผู้ตาย... ซึ่งตกคำว่า "มรดก" ระหว่างคำว่า "ผู้จัดการ" กับ "ของผู้ตาย" อันเป็นส่วนสำคัญของคำสั่งศาลในการตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงเป็นพิรุธ อีกทั้งจำนวนเงินในบัญชีเงินฝากที่ขอเบิกถอนไปทั้งหมดนั้นมีจำนวนมากกว่าล้านบาท เช่นนี้ โดยหน้าที่ตามสัญญารับฝากเงินและตามระเบียบปฏิบัติงานดังกล่าวจำเลยที่ 2 จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยการตรวจสอบสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกให้แน่ชัดเสียก่อนว่าเป็นสำเนาคำสั่งที่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้เบิกถอนเงิน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 2 สามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวก่อนได้ไม่ยาก แต่จำเลยที่ 2 ละเว้นมิได้กระทำให้ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติดังกล่าว โดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของศาลจังหวัดนครนายกเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายไปทันที จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และถือว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการของตนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสาม จึงเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า มูลละเมิดคดีนี้เป็นมูลคดีเดียวกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2904/2561 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 1,196,571.80 บาท แก่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายแล้ว ผลคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ลักเอาเงินฝากของโจทก์ไปโดยจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมในการลักเงินฝากดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญา ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวหาได้ผูกพันจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งนี้ ให้จำต้องถือตามไม่ เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นหนี้อันเกิดจากมูลละเมิด ถือว่าจำเลยที่ 2 ลูกหนี้ย่อมผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด โจทก์ไม่จำต้องเตือนหรือทวงถามก่อนฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากมีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 1,196,571.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ