โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352, 353, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 มีมูล ให้ประทับฟ้อง ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นายสุ และนางใส มีบุตรด้วยกัน 8 คน คือ นางภิญญดา โจทก์ นางเวส นายวาส นายจันทร์ นางสาวสุชินันท์ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ตามลำดับ วันที่ 26 ธันวาคม 2556 นายสุถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 4 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 3065, 3069, 3678 และ 3680 ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2557 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุ หลังจากนั้นวันที่ 1 กันยายน 2557 และวันที่ 11 ธันวาคม 2557 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3069, 3678, 3680 และ 3065 ตามลำดับ เป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2558 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินบางส่วนในโฉนดเลขที่ 3069 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 10120 (ที่ดินพิพาท) ถึง 10123 เนื้อที่แปลงละ 1 ไร่เศษ ส่วนที่ดินที่เหลือจำนวน 22 ไร่เศษ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 10120 ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 3065, 3678 และ 3680 จำเลยที่ 1 แบ่งปันให้แก่ทายาทตามสัดส่วนแล้ว โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 10125 ซึ่งแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3065 และที่ดินโฉนดเลขที่ 10234 ซึ่งแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3680 ให้แก่โจทก์ในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ซึ่งโจทก์พอใจ คงเหลือแต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 10120 ที่ดินพิพาทที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยทุจริตเนื่องจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แทนที่จะเป็นโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์เพิ่งมาสงสัยเมื่อเห็นว่ามีการติดแผ่นป้ายประกาศขายที่ดินในที่ดินพิพาท จึงได้มอบหมายให้ทนายความไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจังหวัดบึงกาฬ สาขาเซกา ในวันที่ 5 มีนาคม 2561 จึงทราบว่ามีการโอนที่ดินพิพาทไปยังจำเลยที่ 2 แล้วเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 จึงต้องถือว่า โจทก์ทราบแน่ชัดถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 5 มีนาคม 2561 เมื่อโจทก์ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีวันที่ 6 มีนาคม 2561 จึงอยู่ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า นายสุและจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 3069 ออกเป็น 4 แปลงย่อย โดยแปลงที่ 1 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทนั้น นายสุยกให้แก่โจทก์ ภายหลังนายสุถึงแก่ความตาย โจทก์ยังนำดินเข้าไปถมในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 กับนางใส มารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า นายสุมีเจตนายกที่ดินโฉนดเลขที่ 3069 ให้จำเลยที่ 1 ทั้งแปลง โดยจำเลยที่ 1 เบิกความในส่วนนี้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3069 ที่นายสุยกให้จำเลยที่ 1 นั้น ต่อมาจำเลยที่ 1 นำไปแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อย 4 แปลง ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ประสงค์จะจดทะเบียนยกให้นางใสแต่นางใสแจ้งว่าไม่สามารถเดินทางไปทำนิติกรรมได้โดยสะดวก ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ไว้ เห็นว่า ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างยันกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายสุที่ยกให้แก่ตนเอง เมื่อโจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และภายหลังที่นายสุถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุตามคำสั่งศาล ได้เบียดบังที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนายสุโดยไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่กลับจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 โจทก์จึงต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านได้ความว่า ในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ซึ่งจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 10125 ที่แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3065 และที่ดินโฉนดเลขที่ 10234 ที่แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3680 ให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ไปรับโอนที่ดินดังกล่าว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ด้วย แต่จำเลยที่ 1 แจ้งว่าไม่ให้ เพราะที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในโฉนดเลขที่ 3069 โดยจำเลยที่ 1 โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอ้างว่านายสุยกให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งแปลง ทั้งโจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านต่ออีกว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์พร้อมที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวนั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 เรียกเงินโจทก์ 200,000 บาท โจทก์ไม่ทราบว่าเป็นค่าอะไร โจทก์ไม่มีเงินให้ จำเลยที่ 1 จึงไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิเสธในการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทต่อโจทก์โดยชัดแจ้งในวันดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า มูลความแห่งคดีเกิดขึ้นในวันดังกล่าว โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2559 เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน