โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งแยกสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยในส่วนของกิจการโรงงานนำชัย ประพนพจน์หรือนำชัย และกิจการบริษัทอาหารนำไทยพัฒนา จำกัด ให้ตกได้แก่โจทก์ ส่วนกิจการบริษัทซิงกูลลาร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ให้ตกได้แก่จำเลย ให้นำเงินรายได้จากการประกอบกิจการทั้งสามแห่งรวมถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ได้มาก่อนศาลมีคำพิพากษาแยกสินสมรสมาแบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยคนละกึ่งหนึ่งเท่า ๆ กัน ให้นำทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์มาแบ่งให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถแบ่งแยกได้ ให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์จำนวน 303,307,929.50 บาท ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยคงค้างชำระจำนวน 9,600,000 บาท ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยนำรายได้จากกิจการอันเป็นสินสมรสมาชำระเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ในอัตราเดือนละ 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้แยกสินสมรส ตลอดจนขอให้ศาลแจ้งคำพิพากษาไปยังนายทะเบียนเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรสต่อไป หรือใช้คำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยคงค้างชำระแก่โจทก์จำนวน 9,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 กันยายน 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 200,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่าโจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2521 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นายอณาฆินทร์ นายอัครินทร์ และนางดารา เดิมโจทก์ประกอบธุรกิจผลิตเส้นบะหมี่และใบห่อเกี๊ยวซึ่งตกทอดมาจากบิดามารดาโดยโจทก์จดทะเบียนในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดนำชัยอุตสาหกรรม จำกัด เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2520 ใช้เครื่องหมายการค้า "นำชัย" และ "รูปเป็ดกกไข่" โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน โจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจนกระทั่งวันที่ 25 กันยายน 2529 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการจากโจทก์เป็นจำเลย ต่อมาปี 2543 ห้างหุ้นส่วนจำกัดนำชัยอุตสาหกรรมอาหารมีปัญหาขาดทุน จึงจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด แล้วจดทะเบียนตั้งบริษัท อาหารนำไทยพัฒนา จำกัด เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2543 โดยโจทก์มิได้มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นเลย วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยจดทะเบียนตั้งบริษัทซิงกูลลาร์ เวิลด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการติดตั้ง ซื้อขายอุปกรณ์โทรคมนาคมพร้อมทั้งติดตั้งเครือข่ายสายโทรคมนาคม ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม และ 25 กันยายน 2549 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซิงกูลลาร์ เวิลด์ จำกัด และบริษัทซิงกูลลาร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ตามลำดับ โดยโจทก์มีชื่อถือหุ้นในบริษัทนี้ด้วย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ศาลพิพากษาให้หย่าและแบ่งสินสมรส จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง ระหว่างการพิจารณาโจทก์ร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 200,000 บาท นับแต่วันฟ้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 หลังจากนั้นศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน รายละเอียดคดีก่อนปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1779/2553 หมายเลขแดงที่ 1953/2555 ของศาลชั้นต้นที่ผูกรวมสำนวนคดีนี้ โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวด้วย ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เดือนละ 300,000 บาท นับแต่วันมีคำสั่ง (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555) เป็นต้นไป จำเลยไม่เคยชำระเงินตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเลยนอกจากนี้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น กรมสรรพากรยื่นฟ้องบริษัทอาหารนำไทยพัฒนา จำกัด เป็นจำเลยต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทอาหารนำไทยพัฒนา เด็ดขาด โดยประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 1553/2558 ของศาลล้มละลายกลาง
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1953/2555 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากันและแบ่งสินสมรส ประเด็นในคดีก่อนมีว่ามีเหตุหย่าหรือไม่ หากศาลพิพากษาให้หย่าจึงจะมีการแบ่งสินสมรสกันว่ามีทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรส เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่มีเหตุหย่า จึงไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่ง ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสและให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่ามีเหตุให้แยกสินสมรสหรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ และสินสมรสที่ต้องแยกได้แก่ทรัพย์สินใด ประเด็นแห่งคดีนี้และประเด็นแห่งคดีก่อนจึงต่างกัน แม้ทรัพย์สินที่อ้างตามฟ้องคดีนี้จะเป็นทรัพย์สินตามฟ้องกับคดีก่อน แต่เมื่อคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่ต้องแบ่ง จึงถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับสินสมรสเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1953/2555 ของศาลชั้นต้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยตามปัญหาประการแรกฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยขัดขวางการจัดการสินสมรสของโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องอันเป็นเหตุขอให้แยกสินสมรส แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อสำนวนขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ย้อนสำนวน ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า เดิมโจทก์จำเลยประกอบกิจการโรงงานผลิตเส้นบะหมี่และใบห่อเกี๊ยวในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดนำชัยอุตสาหกรรม ต่อมาได้จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อปี 2543 เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้ภาษีอากร แล้วจัดตั้งบริษัทอาหารนำไทยพัฒนาจำกัด ซึ่งมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยจะไม่ใช้อำนาจบริหารกิจการแต่ให้นายอัครินทร์ บุตรชายคนที่สองของโจทก์และจำเลยเป็นผู้บริหาร นอกจากนี้กิจการโรงงานผลิตเส้นหมี่และใบห่อเกี๊ยวเป็นของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก หาใช่สินสมรสไม่ ยิ่งกว่านั้นในคดีก่อน (คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1953/2555) ที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (คดีหมายเลขแดงที่ 22913/2556) ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ที่อ่านให้โจทก์และจำเลยฟังเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557 โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ในการก่อตั้งบริษัทอาหารนำไทยพัฒนา จำกัด โจทก์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเนื่องจากโจทก์ติดการพนันและมีปัญหาหนี้สิน โจทก์จะไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการผู้มีอำนาจ ภายหลังโจทก์ก่อเรื่องทำลายทรัพย์สินของบริษัท จนกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการต้องมีคำสั่งห้ามโจทก์เข้าบริษัทและมีการร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับโจทก์ แต่ภายหลังได้ถอนฟ้อง ข้อเท็จจริงในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีนี้ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบกับโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 ภายหลังคดีก่อนถึงที่สุดเพียง 4 เดือน บ่งชี้ความไม่สุจริตของโจทก์ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยขัดขวางการจัดการสินสมรสของโจทก์ ฎีกาของโจทก์ตามปัญหาประการที่สองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาดและพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะแก่สินสมรสหรือไม่ สำหรับปัญหาข้อนี้ที่โจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสคือกิจการของบริษัทอาหารนำไทยพัฒนา จำกัด และบริษัทซิงกูลลาร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด นั้น เห็นว่า บริษัททั้งสองแห่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลอื่นและผู้ถือหุ้น มีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ เป็นของตนเอง การดำเนินกิจการต่าง ๆ เป็นอำนาจหน้าที่กรรมการบริษัทภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับจัดตั้ง ดังนั้น กิจการของบริษัททั้งสองรวมทั้งทรัพย์สินของบริษัทซึ่งมีโรงงานผลิตเส้นหมี่และใบห่อเกี๊ยวรวมอยู่ด้วย หาใช่สินสมรสไม่ แต่เป็นของบริษัททั้งสองภายใต้การดำเนินกิจการของกรรมการบริษัท หากจะเกิดความเสียหายหรือเกิดความหายนะ ก็เป็นเรื่องที่กรรมการบริษัทจะรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 กรณีจึงไม่มีเหตุแยกสินสมรสตามปัญหาประการที่สาม ฎีกาของโจทก์ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สี่ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ อันเป็นเหตุขอให้แยกสินสมรสหรือไม่ และปัญหาประการที่ห้าตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกันในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูตามปัญหาดังกล่าวเดือนละ 300,000 บาท ที่โจทก์อ้างนี้ เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยกับนายอัครินทร์ บุตรของโจทก์และจำเลย ในการเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดนำชัยอุตสาหกรรม เนื่องจากมีปัญหาหนี้เกี่ยวกับภาษีอากร แล้วจัดตั้งบริษัทอาหารนำไทยพัฒนา จำกัด โดยโจทก์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะก่อปัญหาหนี้สินและติดการพนันดังกล่าวมาแล้วในปัญหาประการที่สอง แต่ให้นายอัครินทร์นำรายได้ของบริษัทดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยคนละ 300,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับตลอดมา จนกระทั่งโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยในคดีก่อน จึงไม่มีการจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่โจทก์ เห็นว่า เงินค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของบริษัทที่นำมาจ่ายให้แก่โจทก์และจำเลยเมื่อมีกำไร หาใช่ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่คู่สมรสต้องอุปการะเลี้ยงดู ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตา 1461 วรรคสอง อันจะถือเป็นเหตุให้แยกสินสมรสตามมาตรา 1484 (2) ไม่ นอกจากนี้ยังได้ความตามราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 และวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ว่า บริษัทอาหารนำไทยพัฒนา จำกัด ถูกกรมสรรพากรฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 และพิพากษาให้ล้มละลาย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล. 1557/2558 จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่า บริษัทอาหารนำไทยพัฒนา จำกัด มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่มีรายได้ที่จะนำมาชำระค่าเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยดังที่ตกลง ทั้งได้ความว่าจำเลยมีหนี้สินจำนวนมาก ดังนี้จะถือว่าจำเลยผิดข้อตกลงหาได้ไม่ ฎีกาของโจทก์ตามปัญหาประการที่สี่ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยตามปัญหาประการที่ห้าฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอบังคับให้แยกสินสมรสและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู จึงเป็นคดีปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ สำหรับคำขอให้แยกสินสมรสซึ่งต้องชำระค่าขึ้นศาลในแต่ละชั้นศาลเพียง 200 บาท และเป็นคดีปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ในส่วนคำขอให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่คดีนี้เป็นคดีครอบครัวซึ่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติให้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยให้การในส่วนสินสมรสที่โจทก์ขอแยกว่า กิจการของบริษัททั้งสองแห่งไม่ใช่สินสมรสแต่เป็นของบริษัททั้งสองแห่งไม่ถือว่าเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ส่วนเครื่องประดับเป็นของใช้ส่วนตัวเป็นสินส่วนตัวและมีไม่ถึงตามที่โจทก์อ้าง จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์เฉพาะส่วนนี้เพียงกึ่งหนึ่ง คิดเป็นทุนทรัพย์ 86,890,000 บาท ซึ่งจะต้องชำระค่าขึ้นศาลเพียง 236,890 บาท โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น 453,308 บาท ชั้นอุทธรณ์และฎีกาชั้นละ 453,307 บาท จึงเกินมาจากที่ต้องชำระ จึงเห็นสมควรคืนให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลส่วนที่โจทก์ชำระเกินมาโดยให้คงเหลือไว้ชั้นศาลละ 236,890 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนทั้งสามศาลให้เป็นพับ