โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 6, 7, 47, 48, 69, 73, 74, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91 ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1), ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ริบไม้พะยูงอันยังมิได้แปรรูป 17 ท่อน และไม้พะยูงแปรรูป 1 แผ่น ของกลาง ไม่จ่ายเงินสินบนนำจับให้แก่ผู้นำจับ (ที่ถูก ยกคำขอที่ขอให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 56 บ้านที่เกิดเหตุ พบไม้พะยูง 17 ท่อน ปริมาตร 0.747 ลูกบาศก์เมตร และไม้พะยูงแปรรูป 1 แผ่น ปริมาตร 0.024 ลูกบาศก์เมตร รวมปริมาตรไม้ของกลาง 0.771 ลูกบาศก์เมตร ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2561 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ฟังข้อเท็จจริงในสำนวนจากการนำสืบของโจทก์ รวมทั้งการนำสืบพยานของจำเลยแล้วว่าพยานหลักฐานจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และฟังไม่ได้ว่าไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน อันจะทำให้ไม้พะยูงของกลางไม่เป็นไม้หวงห้าม ไม้พะยูงของกลางจึงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยโดยมีข้อสำคัญเกี่ยวกับเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (5) และ (6) แล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปมีว่า ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีภาระพิสูจน์ว่าไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่านั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีไม้พะยูงอันยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีไม้พะยูงแปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48, 69 และ 73 ตามคำฟ้องโจทก์ดังกล่าว หากจำเลยจะต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยจะต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าไม้ท่อนของกลางเป็นไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ส่วนไม้แปรรูปของกลางก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 50 (4) เมื่อมาตรา 69 วรรคหนึ่งและมาตรา 50 (4) ได้บัญญัติในเรื่องภาระการพิสูจน์ไว้เป็นการเฉพาะเช่นนี้แล้ว แม้ต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วมีพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มาตรา 4 ให้ยกเลิก ความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม" บทบัญญัติมาตรา 7 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวก็หามีผลทำให้โจทก์มีภาระพิสูจน์ถึงที่มาของไม้ท่อนและไม้แปรรูปของกลางไม่ แต่ยังคงเป็นภาระของจำเลยที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวในการนำสืบข้อเท็จจริงอันจะทำให้ตนพ้นผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน