โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 27,661,402.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 24,022,929.26 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มิถุนายน 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยควบคุมงานก่อสร้างโครงการอาคารชุดของโจทก์ ประกอบด้วยงานก่อสร้างปรับปรุงอาคาร A, B และ C งานสถาปัตยกรรมตกแต่งภายใน และงานวิศวกรรมระบบประกอบอาคาร ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 7,366,950 บาท แบ่งชำระเป็น 20 งวดเดือน กำหนดระยะเวลาควบคุมการก่อสร้าง 20 เดือน นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2556 และจะควบคุมการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ซึ่งต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท น. ก่อสร้างคอนโดมิเนียม อาคาร A, B และ C ในส่วนของงานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม และงานระบบสุขาภิบาล กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 และทำสัญญาว่าจ้างบริษัท อ. ทำงานระบบประกอบอาคารชุดคอนโดมิเนียม อาคาร A, B และ C ประกอบด้วยงานระบบไฟฟ้าสื่อสาร งานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ งานระบบสุขาภิบาล งานระบบดับเพลิง และงานภายนอกอาคาร กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 จำเลยทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2558 แต่งานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ จำเลยยังคงทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างต่อมาโดยได้รับค่าจ้างจากโจทก์เป็นรายเดือน โดยโจทก์ชำระค่าจ้างเพียงถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 รวมเป็นเงินค่าจ้างที่จำเลยได้รับจากโจทก์ทั้งสิ้น 9,539,404.32 บาท แต่โจทก์ไม่ชำระค่าจ้างของเดือนมีนาคม 2559 จำเลยจึงหยุดทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เป็นต้นไป ต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 25 เมษายน 2559 แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย หลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 แจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและเรียกเงินค่าจ้างคืน แต่จำเลยเพิกเฉย บริษัท อ. ยื่นฟ้องโจทก์เรียกค่าจ้างที่ค้างชำระและให้คืนเงินประกันผลงานอันเกิดจากการทำงานตามสัญญาว่าจ้างรับเหมาทำงานระบบประกอบอาคารชุดคอนโดมิเนียม โจทก์ให้การและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่บริษัท อ. ทำงานล่าช้าและบกพร่อง โดยค่าเสียหายในส่วนของงานบกพร่องนั้นเป็นรายการเดียวกับค่าเสียหายในคดีนี้ที่โจทก์ยื่นฟ้องให้จำเลยรับผิดจากการที่ไม่ได้ควบคุมงานระบบของบริษัท อ. ให้เป็นไปตามสัญญา ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าววินิจฉัยว่าบริษัท อ. ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และฟังไม่ได้ว่าความชำรุดบกพร่องของงานระบบเกิดจากความผิดของบริษัท อ. แล้วพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระและคืนเงินประกันผลงานแก่บริษัท อ. และยกฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้โจทก์ฎีกา คดีถึงที่สุดแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยผิดสัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างและต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด และตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าจ้างที่ได้รับไปแล้วให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ซึ่งเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ความเสียหายที่โจทก์ฟ้องเกิดจากบริษัท น. ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ไม่ได้เกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย ส่วนโจทก์ฎีกาว่า งานของผู้รับเหมายังไม่แล้วเสร็จ เพราะยังไม่ได้ส่งมอบงานตามสัญญาและมีงานบกพร่องที่ผู้รับเหมาจะต้องแก้ไข สัญญาว่าจ้างจำเลยควบคุมงานยังไม่ได้สิ้นสุดลง จำเลยต้องปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาต่อไป แต่จำเลยผิดสัญญาด้วยการทิ้งงาน โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และจำเลยต้องคืนเงินค่าจ้างที่ได้รับไปแล้วให้แก่โจทก์ตามสัญญา เห็นว่า ตามข้อเสนอบริการบริหารงานโครงการและควบคุมงานก่อสร้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างได้กำหนดขอบเขตการให้บริการไว้ในข้อ 3 ถึงข้อ 5 ว่า จำเลยมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้าง โดยทำการควบคุมและกำกับดูแลให้คู่สัญญาของโครงการปฏิบัติตามสัญญาและทำภารกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จ ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนโจทก์ในการตรวจสอบงานต่าง ๆ พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อโจทก์เพื่อใช้ประกอบการตรวจรับมอบงาน ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยมาทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2556 ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2559 จำเลยต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว ในข้อนี้ โจทก์มีนายกมล กรรมการผู้จัดการโจทก์ และนายพิละพรรธน์ พนักงานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบและสำรวจความเสียหายของงานก่อสร้าง เบิกความในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ตรวจสอบการก่อสร้างของบริษัท น. พบว่าทำงานบกพร่องผิดสัญญาหลายประการ อันเกิดจากจำเลยควบคุมงานไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้ใช้ความสามารถของตนในการตรวจสอบถึงความบกพร่องและสั่งให้แก้ไข ส่วนจำเลยมีนายคณบฎหรืออภิชัช พนักงานของจำเลยซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการก่อสร้างอาคารของโจทก์ เบิกความว่า ขณะทำงานพยานตรวจพบความเสียหายที่เกิดจากการทำงานของบริษัทผู้รับเหมาทั้งสองรายและแจ้งให้ผู้รับเหมาแก้ไขแล้ว รวมทั้งแจ้งให้โจทก์ทราบในระหว่างการประชุมผู้ทำงานด้วย เห็นว่า โจทก์มีภาพถ่ายรอยร้าวของผนังอาคาร ช่องหน้าต่างที่กว้างกว่าบานหน้าต่างเกินมาตรฐาน น้ำที่รั่วเข้าห้องพัก และลานจอดรถใต้อาคารที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ก่อสร้างชำรุดบกพร่องมาสนับสนุน และสอดคล้องกับรายงานการประชุม Site Meeting ครั้งที่ 65/2558 ที่นายโกสิน ตัวแทนของบริษัท น. แถลงต่อที่ประชุมยอมรับว่าลูกค้าห้องเลขที่ 225, 417 และ 418 อาคาร C แจ้งว่าพื้นลามิเนตยุบ โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งถึงความชำรุดบกพร่องของงานดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า งานก่อสร้างของบริษัท น. มีความชำรุดบกพร่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขดังที่โจทก์นำสืบ เมื่อพิจารณาถึงขั้นตอนการทำงานของบริษัท น. ที่ปรากฏในสำเนารายงานการประชุม Site Meeting แล้ว เชื่อว่าบริษัทดังกล่าวก่อสร้างงานชำรุดบกพร่องตั้งแต่ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยมาควบคุมงาน แม้จะตรวจพบความชำรุดบกพร่องในภายหลัง แต่ก็ถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย หากจำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพด้านการควบคุมงานก่อสร้างได้ใช้ความรู้ความชำนาญในวิชาชีพทำการควบคุมงานโดยใกล้ชิดและตรวจสอบผลงานก่อสร้างของบริษัท น. ด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมสามารถตรวจพบความชำรุดบกพร่องของงานก่อสร้างตามที่โจทก์นำสืบและสั่งให้ดำเนินการแก้ไขพร้อมทั้งแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อใช้ประกอบในการตรวจรับมอบงานได้ไม่ยาก แต่จำเลยกลับไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามที่ได้ให้สัญญาไว้แก่โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากงานก่อสร้างของบริษัท น. ที่มีความชำรุดบกพร่องและยังไม่ได้รับการแก้ไข จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท น. แต่การควบคุมงานในส่วนงานระบบของบริษัท อ. ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ พ.1627/2561 ซึ่งวินิจฉัยว่า บริษัท อ. ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และฟังไม่ได้ว่าความชำรุดบกพร่องของงานระบบเกิดจากความผิดของบริษัท อ. คดีนี้จึงต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท อ. สำหรับข้ออ้างว่าจำเลยทิ้งงานนั้น เห็นว่า ตามข้อเสนอบริการบริหารงานโครงการและควบคุมงานก่อสร้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างได้กำหนดขอบเขตการให้บริการไว้ในข้อ 8 ว่า จำเลยมีหน้าที่ดูแลผลงานหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้นลง โดยยังคงความรับผิดชอบต่อไปจนกว่าความรับผิดของคู่สัญญาของโครงการสิ้นสุดลงและหมดระยะเวลาประกันผลงานทุกสัญญา แสดงว่าหลังจากควบคุมงานก่อสร้างจนเสร็จและโจทก์รับมอบงานจากผู้รับเหมาแล้ว จำเลยยังคงมีหน้าที่ดูแลผลงานหลังการก่อสร้างต่อไปอีกจนหมดระยะเวลารับประกันผลงานก่อสร้างของผู้รับเหมา หาใช่ว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลาควบคุมงานตามที่ระบุในสัญญาแล้วสัญญาจะสิ้นสุดลงทันทีไม่ ส่วนที่สัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ข้อ 2.2 วรรคหนึ่ง ระบุว่า ในกรณีที่ครบกำหนดระยะเวลารับจ้างควบคุมการก่อสร้างแล้ว แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จอันเนื่องมาจากความบกพร่อง หรือความผิด หรือเหตุใด ๆ ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ จำเลยตกลงจะควบคุมการก่อสร้างต่อไปจนกว่างานจะเสร็จสิ้นโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และวรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่ครบกำหนดระยะเวลารับจ้างควบคุมการก่อสร้างแล้ว แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้าโจทก์มีความประสงค์จะว่าจ้างจำเลยต่อไป ให้โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบเป็นลายลักษณ์อักษร นั้น ปรากฏจากสำเนารายงานการประชุม Site Meeting ว่าเหตุที่งานล่าช้าเป็นเพราะจำนวนคนงานของผู้รับเหมาทั้งสองรายมีน้อย และจำเลยได้สั่งให้เร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนคนงานมาตลอด ซึ่งตัวแทนของโจทก์ที่เข้าร่วมประชุมก็ได้รับทราบปัญหานี้แล้ว การที่ผู้รับเหมาทั้งสองรายก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาถือเป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ หาได้เกิดจากความบกพร่อง หรือความผิด หรือเหตุใด ๆ ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ อันจะทำให้จำเลยต้องควบคุมการก่อสร้างต่อไปจนกว่างานจะเสร็จสิ้นโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ ดังจะเห็นได้จากเมื่อครบกำหนดระยะเวลาควบคุมงานในวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ตามสัญญาแล้ว งานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ จำเลยยังคงทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างต่อไปโดยโจทก์ชำระค่าจ้างให้เป็นรายเดือนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ดังนี้ แม้โจทก์ไม่ได้แจ้งความประสงค์จะว่าจ้างจำเลยต่อไปให้จำเลยทราบเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่ระบุไว้ในสัญญา ก็ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยตกลงต่อระยะเวลาควบคุมงานตามสัญญาออกไปโดยปริยาย สัญญาว่าจ้างควบคุมงานก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์มีหน้าที่ชำระค่าจ้างให้แก่จำเลยตามระยะเวลาที่จำเลยมาควบคุมงานก่อสร้าง เมื่อโจทก์ไม่ชำระค่าจ้างของเดือนมีนาคม 2559 จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่มาควบคุมงานภายหลังจากนั้น การที่จำเลยไม่มาควบคุมงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เป็นต้นไป จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะทิ้งงาน มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ข้อ 4 ได้กำหนดขั้นตอนในการบอกเลิกสัญญาว่า ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จะต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรโดยแจ้งเหตุผลในการที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและขอให้จำเลยจัดการปรับปรุงแก้ไขเสียก่อน ถ้าจำเลยละเลยไม่จัดการแก้ไขภายใน 15 วัน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ในข้อนี้ โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 25 เมษายน 2559 แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และมีหนังสือลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย แต่ตามหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวโจทก์เพียงแจ้งให้จำเลยกลับมาทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างภายใน 15 วัน และขอให้จำเลยเรียกบริษัท อ. เข้ามาแก้ไขความบกพร่องที่เกิดจากการทำงานของบริษัทดังกล่าว เมื่อจำเลยเพิกเฉย โจทก์ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญา เท่ากับว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่จำเลยทิ้งงานและเหตุที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท อ. ซึ่งทั้งสองเหตุนี้จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาดังที่ได้วินิจฉัยมาในตอนต้น โจทก์ย่อมไม่อาจนำมาเป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงไม่ชอบ มีผลเท่ากับกับโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา อย่างไรก็ดี ตามสัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ข้อ 4 วรรคสอง ระบุไว้ในตอนท้ายว่า การที่โจทก์ไม่บอกเลิกสัญญา ไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากความรับผิดตามสัญญา ดังนั้น จำเลยจึงยังคงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท น. แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัท น. ได้ยื่นฟ้องขอให้บังคับโจทก์คืนเงินประกันผลงานและชำระค่าจ้างทำงานก่อสร้างดังกล่าวส่วนที่ยังค้างชำระ โจทก์ฟ้องแย้งขอให้บังคับบริษัท น. ชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการทำงานก่อสร้างบกพร่อง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2309/2561 ของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์คืนเงินประกันผลงานที่โจทก์หักไว้จากค่าจ้างในแต่ละงวด รวม 14,256,971.38 บาท และให้รับผิดในค่าจ้างที่ยังไม่ได้ชำระ 7,978,778.68 บาท แก่บริษัท น. โดยให้หักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายที่บริษัท น. ทำงานก่อสร้างบกพร่อง เป็นเงิน 4,857,212.97 บาท ซึ่งค่าเสียหายในส่วนของงานก่อสร้างที่บกพร่องเป็นค่าเสียหายจำนวนเดียวกับที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในคดีนี้ ถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ จำเลยและบริษัท น. ต้องรับผิดแก่โจทก์เช่นอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 301 การที่บริษัท น. ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยวิธีการหักกลบลบหนี้กับเงินประกันผลงานและค่าจ้างที่โจทก์ค้างชำระ ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยด้วยตามมาตรา 292 วรรคหนึ่ง มีผลให้หนี้ของจำเลยในคดีนี้ระงับไป จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท น. แก่โจทก์อีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์ 500,000 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าจ้างที่ได้รับไปแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์ตามสัญญา นั้น เห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ข้อ 5 ระบุว่า หากโจทก์บอกเลิกสัญญาตามข้อ 4 แล้ว จำเลยจะต้องคืนเงินค่าจ้างที่ได้รับไว้ให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบด้วยสัญญาข้อ 4 วรรคสอง ดังที่ได้วินิจฉัยมาในตอนต้น มีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างที่จำเลยได้รับไปแล้วคืน ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำขอในส่วนนี้ของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 10,039,404.32 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกามีเพียง 9,539,404.32 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 190,788 บาท และค่าขึ้นศาลอนาคต 100 บาท รวมเป็นเงิน 190,888 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 200,000 บาท โดยคิดจากทุนทรัพย์ 10,039,404.32 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมา 9,112 บาท แก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมา 9,112 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์กับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ