โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔, ๕, ๖ (๑), ๗ ทวิ, ๑๓ ทวิ, ๖๒, ๘๙, ๑๐๖, ๑๐๖ ทวิ, ๑๑๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑ และริบของกลาง ที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ ๒ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๘๙ และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๗ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ มีอายุ ๑๓ ปี ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ แต่เห็นสมควรให้ส่งตัวจำเลยที่ ๑ ไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรี มีกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า ๑ ปี และขั้นสูงไม่เกิน ๒ ปี ริบของกลางที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ ๑ มีอายุ ๑๓ ปี จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยที่ ๑ ไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรี มีกำหนดขึ้นต่ำไม่น้อยกว่า ๑ ปี และขั้นสูงไม่เกิน ๒ ปี แต่ในระหว่างยื่นฎีกา จำเลยที่ ๑ มีอายุครบสิบแปดปีแล้ว ศาลจึงไม่อาจส่งตัวจำเลยที่ ๑ ไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ (๕) แต่สมควรที่จะดำเนินการแก่จำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ ประการอื่นที่เหมาะสมแก่จำเลยที่ ๑ โดยเห็นว่าควรมอบตัวจำเลยที่ ๑ ให้มารดาหรือผู้ปกครองซึ่งยังสามารถดูแลจำเลยที่ ๑ ได้ไป โดยวางข้อกำหนดให้มารดาหรือผู้ปกครองปฏิบัติตามและเพื่อให้จำเลยที่ ๑ หลาบจำเห็นสมควรกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยที่ ๑ ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้มารดาหรือผู้ปกครองจำเลยที่ ๑ รับตัวจำเลยที่ ๑ ไปอบรมสั่งสอนและดูแลระมัดระวังมิให้จำเลยที่ ๑ ก่อเหตุร้ายหรือกระทำผิดอาญาใด ๆ ขึ้นอีกภายในกำหนด ๒ ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ ๑ ฟัง หากจำเลยที่ ๑ ก่อเหตุร้ายหรือกระทำผิดอาญาอีก มารดาหรือผู้ปกครองจำเลยที่ ๑ จะต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ ๑,๐๐๐ บาท และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยที่ ๑ โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ๓ เดือนต่อครั้ง มีกำหนด ๑ ปี ห้ามจำเลยที่ ๑ เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ ๑ เห็นสมควร มีกำหนด ๓๐ ชั่วโมง และให้คืนธนบัตรล่อซื้อ ๒,๐๐๐ บาท แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗.