โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย 816,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 598,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติโดยไม่มีคู่ความโต้แย้งกันและศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถหัวลาก 18 ล้อ ส่งสินค้าให้ห้างเทสโก้โลตัสตามสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 9,775 บาท ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงน้ำมันรายเดือน ค่าเที่ยวตามจำนวนเที่ยวที่วิ่งงานตามเงื่อนไขของจำเลย และค่าโทรศัพท์ที่ใช้ในธุรกิจของจำเลย โจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน ล. เดือนกันยายน 2558 สหภาพแรงงาน ล. ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 จำเลยไม่ได้มอบหมายงานให้โจทก์ไปส่งสินค้าตามต่างจังหวัด โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ 1-4/2559 ให้จำเลยมอบหมายงานในตำแหน่งที่โจทก์ทำงานตามปกติ ต่อมาจำเลยมีคำสั่งย้ายงานโจทก์ซึ่งต้องทำงานเป็นกะ ทำให้ไม่มีเวลาเข้างานและออกงานเช่นเดียวกับตำแหน่งเดิม วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ 308/2559 วินิจฉัยว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และมีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมกับจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงาน วันที่ 22 มิถุนายน 2559 จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถตามปกติ วันที่ 23 มิถุนายน 2559 จำเลยมีคำสั่งไม่ให้โจทก์ขับรถและไม่ให้เข้าพื้นที่ทำงาน วันที่ 6 กันยายน 2561 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ 378/2561 วินิจฉัยว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และมีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งให้จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ตามคดีหมายเลขดำที่ ร.290/2562 คดีหมายเลขแดงที่ ร.3466/2562 ของศาลแรงงานกลางแล้ว ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ แต่กลับย้ายงานโจทก์ไม่ให้ทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถส่งสินค้าตามเดิมทำให้โจทก์ขาดรายได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ถูกบีบคั้นทางจิตใจ อันเป็นการกระทำใด ๆ อันอาจเป็นผลให้โจทก์ไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมดังที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์จากการที่ไม่มอบหมายงานตามปกติซึ่งเป็นค่าเที่ยวเดือนละ 8,000 บาท เงินรางวัลเดือนละ 16,000 บาท และค่าโทรศัพท์เดือนละ 1,000 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 25,000 บาท ส่วนค่าเดินทางที่โจทก์เรียกร้องไม่ปรากฏว่าจำเลยมีข้อตกลงจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว เมื่อคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ถึงวันฟ้องแล้วคิดเป็นเงิน 598,000 บาท ส่วนศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า หลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 6 กันยายน 2561 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ 378/2561 วินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงต้องถือเสมือนหนึ่งว่าจำเลยไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ แม้ต่อมาจำเลยฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องจึงมีผลผูกพันจำเลย ต้องถือว่าโจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างจำเลยจนถึงวันฟ้อง ศาลแรงงานภาค 1 ย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนถึงวันฟ้องได้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาเพียงว่า จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์หลังจากวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 6 กันยายน 2561 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงน้ำมัน ค่าเที่ยว และค่าโทรศัพท์ โดยอ้างว่าจำเลยทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ ไม่ได้ขับรถส่งสินค้า โจทก์ต้องขาดประโยชน์ในเงินดังกล่าว ซึ่งเป็นการเรียกค่าเสียหายอันมีมูลมาจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น หากนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงไม่ว่าจะกรณีใด สิทธิและหน้าที่อันเกิดจากการปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไปด้วย จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงน้ำมัน ค่าเที่ยว หรือค่าโทรศัพท์ตามสัญญาจ้างแรงงานให้แก่โจทก์อีกต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าในวันที่ 6 กันยายน 2561 จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์อีก แม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งที่ 378/2561 ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับโจทก์กลับเข้าทำงาน เพราะเห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวก็เป็นเพียงการใช้อำนาจตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์กำหนดไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการถือเสมือนว่าจำเลยไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยไว้ไม่ อำนาจการรับโจทก์กลับเข้าทำงานจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมเพื่อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานเดิมย่อมเป็นของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เพราะหากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานอาจต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ต่อเนื่องไปตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานจากจำเลยนับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างซึ่งเป็นวันที่สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงแล้วได้อีก โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายที่ศาลแรงงานภาค 1 กำหนดให้เดือนละ 25,000 บาท คิดถึงวันเลิกจ้างเป็นจำนวน 20 เดือน 6 วัน คิดเป็นเงิน 505,000 บาท เท่านั้น ที่ศาลแรงงานภาค 1 กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์จนถึงวันฟ้องและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง แม้ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นหนี้เงินที่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกรณีดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดของค่าเสียหายในขณะเกิดเหตุคดีนี้ แต่เมื่อในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 505,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 ธันวาคม 2561) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ