โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 27,358 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 469,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวน กับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 234,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว ทั้งนี้ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 27,358 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 234,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 มีนาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 23,450 บาท และไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานเป็นนายท้ายเรือ ปฏิบัติงาน ณ เรือขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ อันมีลักษณะและสภาพของงานที่มีลักษณะเฉพาะ จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ตั้งแต่ปี 2537 และมีการต่อสัญญากันต่อเนื่อง 18 ฉบับ หลังจากครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง เมื่อลูกจ้างขึ้นฝั่งจะต้องมีระยะเวลาพักอย่างน้อย 2 เดือน เห็นได้ว่าสัญญาจ้างแรงงานเพื่อทำงานทางทะเลโดยสภาพแล้วลูกจ้างต้องใช้ชีวิตอยู่บนเรือตลอดระยะเวลาของสัญญา เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้วต้องพักผ่อนก่อนจึงเข้าทำงานใหม่ จึงเป็นระยะเวลาพักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพและลักษณะเฉพาะของสัญญาจ้างแรงงานทางทะเล แม้ระหว่างระยะเวลาดังกล่าวจำเลยจะไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ก็ตาม ก็ถือว่าระยะเวลาการทำงานของโจทก์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ถือได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่ขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นวันที่พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ใช้บังคับแล้ว พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การจ้างงานระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2560 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 29 ตุลาคม 2560 จึงเป็นกรณีที่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 27,358 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำผิดใด ๆ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นสมควรให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 234,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปี 2560 สัญญาจ้างยังมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างงานได้ซึ่งไม่แน่นอนว่าโจทก์จะบอกเลิกสัญญาจ้างงานเมื่อใด จึงเป็นการจ้างงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา และกรณีไม่ใช่เป็นการจ้างงานโดยเฉพาะเจาะจง ที่โจทก์ต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากจำเลยตามที่เจ้าของเรือกำหนดและตรวจสุขภาพก่อนจึงจะได้ทำงานบนเรือได้นั้นเป็นขั้นตอนและกระบวนการรับสมัครแรงงานทางทะเลโดยทั่วไป สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าสามสิบวันเป็นเงิน 23,450 บาท ตามพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 44 วรรคสอง แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามข้อตกลงในสัญญาจ้างงานตามที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น นับได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้าง ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างให้ทำหน้าที่ประจำอยู่ในเรือเดินทะเลขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอันเป็นเรือเดินทะเลที่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์โดยได้รับค่าจ้างตั้งแต่ปี 2537 ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งนายท้ายเรือ จำเลยจึงเป็นเจ้าของเรือ โจทก์เป็นคนประจำเรือ และสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นข้อตกลงการจ้างของคนประจำเรือตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 3 เมื่อจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ในขณะพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ประกาศใช้บังคับแล้ว สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการเลิกจ้างจึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว การทำงานบนเรือเดินทะเลมีลักษณะและสภาพของงานแตกต่างจากการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานทั่วไปดังจะเห็นได้จากเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวที่ปรากฏอยู่ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การจ้างงานระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของเรือต้องจัดให้มีการคุ้มครองด้านประกันสังคมและเงินทดแทนโดยให้คนประจำเรือได้รับสิทธิประโยชน์จากการคุ้มครองตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด ดังนั้น การตีความตามสัญญาจ้างแรงงานทั่วไปจึงไม่อาจนำมาใช้แก่คดีนี้ได้ พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 43 วรรคสอง บัญญัติว่า ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการ ดังต่อไปนี้ (1) ... (17) วันสิ้นสุดหรือเงื่อนไขการสิ้นสุดของข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ ... และมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ หรือสิ้นสุดลงตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และวรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือไม่มีกำหนดระยะเวลา เจ้าของเรือหรือคนประจำเรืออาจบอกเลิกข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือโดยบอกกล่าวล่วงหน้าให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ทั้งนี้ ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ไม่เกินสามสิบวัน ดังนี้ แม้บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้สัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือต้องกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด แต่บางกรณีสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานอาจไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ก็ได้ อย่างไรก็ดีหากสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดหรือเงื่อนไขของการสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานไว้ สัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานย่อมสิ้นสุดตามที่ตกลงกันนั้น คดีนี้จำเลยจ้างโจทก์ทำหน้าที่ประจำบนเรือเดินทะเล ซึ่งโดยสภาพของการทำงานนั้นลูกจ้างต้องทำงานตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเรือตั้งแต่เรือออกจากท่าเรือจนกระทั่งเรือถึงสถานที่ปลายทางแล้ว จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ตั้งแต่ปี 2537 เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันหลายฉบับ โดยสัญญาจ้างแต่ละฉบับได้กำหนดระยะเวลาทำงานไว้แน่นอน เช่น 12 เดือนบ้าง 9 เดือนบ้าง เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างแล้ว สัญญาจ้างฉบับแรก ข้อ 07 เอ) มีข้อความว่า สัญญาจ้างนี้ให้ถือว่าถูกยกเลิกโดยปราศจากความรับผิดชอบอื่นใดของจำเลยโดยมีผลตั้งแต่วันที่โจทก์กลับมาถึงสถานที่ทำสัญญาหรือ ณ สถานที่ซึ่งตกลงกันให้เป็นสถานที่ปลายทางโดยไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผลในการเลิกสัญญา ส่วนสัญญาจ้างฉบับอื่นก็มีข้อความในทำนองเดียวกัน เห็นได้ว่าสัญญาจ้างแต่ละฉบับกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้แน่นอน รวมทั้งยังกำหนดเงื่อนไขการสิ้นสุดของสัญญาจ้างเมื่อโจทก์กลับถึงสถานที่ทำสัญญาหรือ ณ สถานที่ซึ่งตกลงกันให้เป็นสถานที่ปลายทาง แสดงว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นคราว ๆ ตามระยะเวลาที่โจทก์ทำงานประจำบนเรือเท่านั้น นอกจากนี้พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าของเรือต้องจัดให้มีข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือเป็นหนังสือพร้อมลายมือชื่อของเจ้าของเรือและคนประจำเรือ โดยจัดทำเป็นคู่ฉบับจัดเก็บไว้บนเรือหนึ่งฉบับและอีกฉบับหนึ่งให้คนประจำเรือเก็บไว้ พร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ และมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือทำงานบนเรือ โดยที่คนประจำเรือไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงว่ามีความพร้อมด้านสุขภาพในการทำงานบนเรือ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า เจ้าของเรือจะจ้างคนประจำเรือแต่ละครั้งต้องมีการทำสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ และต้องตรวจสุขภาพคนประจำเรือซึ่งเป็นเงื่อนไขในการทำงานบนเรือก่อนทุกครั้ง ดังนั้น จำเลยต้องคัดเลือกและตรวจสุขภาพโจทก์ก่อนให้ทำหน้าที่ประจำบนเรือทุกครั้ง มิใช่จำเลยสามารถสั่งให้โจทก์เข้าทำงานบนเรือได้ทันทีเสมือนโจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลย ถือไม่ได้ว่าระยะเวลานับจากสัญญาจ้างฉบับเดิมสิ้นสุดลงจนถึงวันก่อนวันทำงานตามสัญญาจ้างฉบับต่อไปเป็นระยะเวลาพักอันจะนำระยะเวลาดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นระยะเวลาทำงานตามสัญญาจ้างทุกฉบับติดต่อกัน สัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา ส่วนที่สัญญาจ้าง ข้อ 07 บี) มีข้อความว่า โจทก์อาจจะเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือ 2 เดือน และสัญญาจ้างฉบับอื่นก็มีข้อความในทำนองเดียวกันนั้น เห็นว่า สัญญาจ้าง ข้อ 07 บี) นอกจากมีข้อความว่า โจทก์อาจจะเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือ 2 เดือน แล้วยังมีข้อความต่อไปอีกว่า จำเลยจะพยายามปลดเปลื้องโจทก์จากภาระหน้าที่ภายใน 2 เดือน หลังจากได้รับหนังสือบอกกล่าวนี้ หรือภายในโอกาสที่เร็วที่สุดหลังจากนั้น ในกรณีเช่นนั้นโจทก์จะมีสิทธิจะได้รับสิทธิในการส่งตัวกลับ อย่างไรก็ดีถ้าคำขอเลิกสัญญานี้ได้ถูกให้ภายใน 4 เดือน นับแต่วันเข้าเป็นลูกเรือ (ระยะเวลาทดลองงาน) จำเลยสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาคืนค่าใช้จ่ายและ/หรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับค่าเดินทางมาร่วมโดยทางเครื่องบินและค่าเดินทางกลับทางเครื่องบิน ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ในกรณีโจทก์บอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โดยกำหนดหน้าที่ของจำเลยเป็นผู้ดำเนินการส่งตัวโจทก์กลับ ข้อความดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาตามรายการในสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือเป็นสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนี้ สัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือจึงสิ้นสุดลง เมื่อครบกำหนดระยะเวลาหรือสิ้นสุดลงตามเงื่อนไขที่ตกลงกันในสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานแต่ละฉบับโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนดังวินิจฉัยข้างต้น แม้โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดใดก็ตาม แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ถือได้ว่ามีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้าง ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาในทำนองว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น โจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ศาลฎีกาบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ประกอบกับศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนค่าชดเชย แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องค่าชดเชยจึงเป็นอันยุติแล้ว ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด