โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน 109,258.58 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าตามฟ้องจำนวน 27,757 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2551 จำเลยนำเข้าวุ้นเส้นจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเรือ จำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ฉบับ เพื่อผ่านพิธีการทางศุลกากรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 โดยสำแดงราคาสินค้าทั้งหมดเป็นเงิน 504,634.02 บาท เป็นอากรขาเข้า 60,556 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 39,564 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจปล่อยสินค้าทั้งหมดให้จำเลยรับไป ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2552 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เข้าตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย ณ สถานประกอบการของจำเลย ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ส่งแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริงและมีสินค้าที่จำเลยไม่ได้สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้า โดยจำเลยสำแดงราคาขาดไป จำนวน 207,386.55 บาท และจำเลยไม่ได้สำแดงสินค้าที่นำเข้าพร้อมกันอีก 1 รายการ คือ ถุงพลาสติกจำนวน 20,000 ใบ ราคา 28,712.24 บาท รวมสำแดงราคาสินค้าขาดไปจำนวน 236,098.79 บาท อากรขาดจำนวน 27,757 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มขาดจำนวน 18,470 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ส่งแบบแจ้งการประเมินระบุให้จำเลยรับผิดชำระอากรขาเข้าที่ชำระขาดพร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระขาดพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม
คดีมีประเด็นตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกาประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) ตามคำฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า เมื่อจำเลยถูกขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท การถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/3 ซึ่งบัญญัติว่า "...ในการนี้ ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียน..." กล่าวคือ บริษัทนั้นสิ้นสภาพบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนและบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4 แม้ตามมาตรา 1273/4 วรรคหนึ่ง จะกำหนดว่า การที่ศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ให้ถือว่าบริษัทยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้ เพื่อให้บริษัทกลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลยก็ตาม แต่การที่จะถือเสมือนว่าบริษัทคงอยู่ตลอดมา นั้น ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 1 ออกแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบสามปีนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2552 ที่จำเลยถูกสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางขีดชื่อออกจากทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/3 แต่กลับไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการใดเพื่อตรวจสอบสภาพนิติบุคคลของจำเลยและดำเนินการให้มีการให้มีการจดชื่อบริษัทจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนก่อนมีการออกและส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยทั้ง ๆ ที่มีระยะเวลานานที่สามารถจะดำเนินการได้ และการตรวจสอบสภาพนิติบุคคลกระทำได้ไม่ยาก ดังนี้ แม้ในขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) ให้แก่จำเลยทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังบ้านเลขที่ 604/155 ซึ่งเป็นภูมิลำเนา แต่ขณะนั้น ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยจึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลในขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 โจทก์ที่ 1 กลับเพิ่งยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน โดยระบุในคำร้องด้วยว่าจำเลยถูกขีดชื่อจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทสิ้นสภาพนิติบุคคลแสดงว่าโจทก์ทั้งสองทราบสภาพบุคคลของจำเลยดีอยู่แล้ว และเมื่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4 ก็ไม่ปรากฏว่าศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งและวางข้อกำหนดใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการนี้ ดังนั้น การส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบริษัทที่สิ้นสภาพนิติบุคคลในขณะนั้นจึงไม่สามารถทำได้และยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยแล้ว และเมื่อการส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมิน กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยพอใจและการประเมินเป็นอันยุติแล้วไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ