โจทก์ฟ้องจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 60, 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอริศรา ผู้เสียหาย และเด็กชายตุลยวัต บุตรของผู้ตาย โดยนางอริศรา มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 16 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 8 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 1 ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่านายสกุล ผู้ตาย และพยายามฆ่านางอริศรา โจทก์ร่วมที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้ตายตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 1 ตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานนี้ แต่ยังคงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้ตายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า และแก้ไขบทลงโทษจากหลายบทเป็นบทเดียว โดยไม่ได้แก้โทษด้วย อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามโจทก์มิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ที่โจทก์ฎีกาว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 1 เพื่อช่วยเหลือมารดาที่ชุลมุนตบตีอยู่กับโจทก์ร่วมที่ 1 แต่จำเลยไม่มีความชำนาญในการใช้อาวุธปืน จึงยิงไม่ถูกโจทก์ร่วมที่ 1 ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งวินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมที่ 1 ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของโจทก์.