ผู้ร้องยื่นคำร้องขอศาลได้โปรดมีคำสั่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 239 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 111 และมาตรา 116 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนดเวลาห้าปี
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไปตามกฎหมาย
วันนัดตรวจพยานหลักฐาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ.2553 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 โดยให้มีผลใช้บังคับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 และในวันที่ 19 และ 20 พฤศจิกายน 2553 สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมาได้จัดสัมมนาข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนจำนวน 300 คน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน ด้านการจัดการชุมชน พัฒนาทุน และผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยเข้าพักที่โรงแรมบ้านสบ๊ายสบายรีสอร์ท เลขที่ 60/16 หมู่ที่ 5 ถนนหาดแม่รำพึง ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ระหว่างพักที่โรงแรมดังกล่าว ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 มีการจัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม มีการกล่าวบนเวทีดังที่ปรากฏตามวีดีทัศน์ในรูปแบบดีวีดี และภาพยนตร์สั้น ในยูทูป คดีมีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
ประเด็นข้อกฎหมาย
1. การกระทำตามที่ผู้ร้องอ้างเกิดขึ้นก่อนมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ.2553 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสืบสวนสอบสวนหรือไม่
2. การกระทำตามที่ผู้ร้องอ้างหากเป็นความผิดจะระงับไปเพราะมีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาแล้วหรือไม่
3. การสอบสวนเพิ่มเติมของผู้ร้องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร้อยตำรวจเอกชัยวัฒน์ชอบหรือไม่
ประเด็นข้อเท็จจริง
ผู้คัดค้านมีส่วนสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 (1) (3) และ (4) ทำให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์ในการเลือกตั้งมีผลทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ 6 ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นเหตุให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนดเวลาห้าปีหรือไม่
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัยว่าคดีมีประเด็นวินิจฉัยข้อแรกว่า การกระทำตามที่ผู้ร้องอ้างเกิดขึ้นก่อนพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ.2553 มีผลใช้บังคับ ผู้ร้องมีอำนาจสืบสวนสอบสวนหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 49 วรรคสอง (1) (2) ได้บัญญัติระยะเวลามีผลใช้บังคับวิธีการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้เป็น 2 กรณี กรณีแรกที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่เก้าสิบวันก่อนวันครบอายุจนถึงวันเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่สองเป็นกรณีที่เป็นการเลือกตั้ง อันเนื่องมาจากเหตุอื่นนอกจากกรณีแรกให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้ง กรณีของผู้คัดค้านเป็นกรณีเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นระยะเวลาที่ใช้บังคับวิธีการหาเสียงกรณีของผู้คัดค้านจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นที่ทราบทั่วกัน ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 วรรคสอง (2) ที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีผลใช้บังคับในวันรุ่งขึ้นเป็นการใช้บังคับในกรณีอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรณีวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ส่วนอำนาจในการสืบสวนสอบสวนของผู้ร้องนั้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 บัญญัติแยกไว้เป็นอีกส่วนหนึ่งโดยมาตรา 10 (10) บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 236 (5) คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายตามมาตรา 235 วรรคสอง ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ด้วยและระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2550 ข้อ 8 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจพิจารณาดำเนินการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยเอง หรือสั่งการให้ทำการสืบสวนสอบสวนตามที่เห็นสมควรก็ได้ ดังนั้น เมื่อมีการร้องว่าผู้คัดค้านกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงมีอำนาจดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ ซึ่งเป็นอำนาจที่ผู้ร้องมีอยู่แล้วตามกฎหมาย มิได้ขึ้นอยู่กับว่าได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ หรือพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่เมื่อใดข้อต้อสู่ของผู้คัดค้านในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า การกระทำตามที่ผู้ร้องอ้างหากเป็นความผิดจะระงับไปเพราะมีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ (1) ... มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผู้คัดค้านอ้าง แต่การยุบสภามีผลเพียงทำให้สมาชิกภาพของผู้คัดค้านซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเท่านั้น ซึ่งหากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เพราะเหตุที่มีการกระทำตามคำร้อง การวินิจฉัยและมีคำสั่งโดยศาลฎีกาก็จะไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป คดีนี้ผู้ร้องมีคำขอเพียงประการเดียวคือ ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านเป็นเวลาห้าปี ซึ่งเป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสมาชิกภาพของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงยังคงร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งในกรณีนี้ได้ หาได้ระงับไปเพราะเหตุที่มีการยุบสภาไม่ ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ผู้คัดค้านมีส่วนสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการการทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 (1) (3) และ (4) ทำให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์ในการเลือกตั้ง มีผลทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ 6 ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นเหตุให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนดเวลาห้าปีหรือไม่ เห็นว่า ตามทางไต่สวนไม่ปรากฏว่า ผู้คัดค้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดโครงการ หรือมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่อโครงการ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่นายสุเทพหรือนางสายพิรุณกล่าว คงมีแต่นางสมมาตย์และนางสาวหัด ที่มาเบิกความต่อศาลโดยนางสมมาตย์เบิกความว่า เห็นผู้คัดค้านยืนอยู่ข้างรถตู้สีบรอนซ์ข้างที่ว่าการอำเภอจักราช ส่วนนางสาวหัดเบิกความว่า เห็นผู้คัดค้านยืนอยู่ข้างรถตู้สีบรอนซ์ในบริเวณโรงแรม แต่พยานสองปากนี้เข้ามาให้การโดยร้อยตำรวจเอกชัยวัฒน์เป็นผู้นำมาภายหลัง หลังจากที่คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้งคณะที่ 7 สั่งให้มีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมโดยคณะที่มีร้อยตำรวจเอกชัยวัฒน์เป็นหัวหน้าในการสอบปากคำพยานทั้งสองในครั้งนี้ ปรากฏว่าพยานทั้งสองปากไม่ได้ให้ถ้อยคำต่อร้อยตำรวจเอกชัยวัฒน์ว่าเห็นผู้คัดค้านแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นข้อสำคัญในการสืบสวนสอบสวน อีกทั้งหากผู้คัดค้านไปอยู่ในสถานที่และเวลาเช่นนั้นจริง ก็น่าจะมีบุคคลอื่นในสำนวนประมาณ 300 คน ที่เห็นผู้คัดค้านบ้าง แต่ไม่ปรากฏตามทางสอบสวนของผู้ร้อง คำเบิกความของพยาน ผู้ร้องทั้งสองปากดังกล่าวจึงมีพิรุธและมีน้ำหนักน้อยศาลฎีกาเห็นว่า ตามทางไต่สวนยังไม่ปรากฏหลักฐานถึงขนาดอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านมีส่วนสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้นางสายพิรุณ และนายสุเทพกล่าวถ้อยคำหาเสียง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 (1) (3) และ (4) ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างกรณีจึงไม่มีเหตุที่จะมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านได้ตามคำร้อง
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง