โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ขายกิจการรวมทั้งบริษัทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 40,000,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระรวม 60 งวด ตามสัญญาขายธุรกิจ ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 มีการตกลง ทำสัญญากันใหม่เป็นสัญญาจะซื้อจะขายกิจการ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของจำเลยที่ 1 เป็นเช็คธนาคาร จำนวน 60 ฉบับ ฉบับละ 350,000 บาท เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ เช็คพิพาททั้งสามฉบับ คือ ฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 วันที่ 10 สิงหาคม 2562และวันที่ 10 กันยายน 2562 เป็นเช็คที่รวมอยู่ในจำนวน 60 ฉบับดังกล่าว เมื่อเช็คพิพาททั้งสามฉบับถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสามฉบับ โดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับซึ่งเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายกิจการ แต่ก่อนที่โจทก์จะนำเช็คพิพาท ทั้งสามฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ทั้งสองฝ่ายมีข้อขัดแย้งกันต่างฝ่ายต่างอ้างว่า อีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา กล่าวคือ จำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์จดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจรับจ้างเหมาแรงงานอันเป็นการค้าแข่งกับกิจการตามสัญญาที่มีต่อกัน ส่วนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 โอนกิจการของจำเลยที่ 1 ที่จะซื้อขายกันไปให้บริษัทอื่นในระหว่างผ่อนชำระหนี้ แม้เหตุในการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 โจทก์ยังโต้แย้งอยู่ว่าไม่มีข้อกำหนดในสัญญาให้สิทธิจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 และขอให้คืนกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 แก่โจทก์เท่ากับยอมรับที่จะเลิกสัญญากัน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นผลผูกพันและทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อสัญญาเลิกกันจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือและมีสิทธิระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับ ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดนั้นได้ ที่โจทก์อ้างว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยระบุให้จำเลยที่ 2 โอนหุ้นและกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 คืนแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มิได้ดำเนินการ สัญญาย่อมไม่ระงับ จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันปฏิบัติตามสัญญา เช็คพิพาททั้งสามฉบับ จึงยังมีมูลหนี้อยู่นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 จะต้องดำเนินการโอนหุ้นและกิจการ ของบริษัทจำเลยที่ 1 คืนให้แก่โจทก์เพื่อให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมนั้นเป็นเรื่องผลของการเลิกสัญญาซึ่งต้องกระทำภายหลังจากเลิกสัญญากันแล้ว หากจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการก็ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่มีผลทำให้สัญญาซึ่งเลิกกันแล้วกลับมีผลผูกพันกันต่อไปอีก การที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับจึงถือไม่ได้ว่ามีเจตนาทุจริต จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามฟ้อง ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284 – 285/2553 ที่โจทก์อ้างมานั้นเป็นกรณีธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คก่อนมีการบอกเลิกสัญญา ข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์นอกจากนี้เป็นประเด็นปลีกย่อยไม่มีผลทำให้คดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน