ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เขตอำนาจสอบสวนคดีพรากผู้เยาว์ต่อเนื่อง - สถานที่แจ้งความและจับกุม - อำนาจพนักงานสอบสวน
ผู้เสียหายอยู่กับ พ. ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต ผู้เสียหายถูกพรากหายตัวไป และ พ. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาพนม จำเลยพาผู้เสียหายไปพักในหลายท้องที่ต่างกัน จึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่ เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปและเป็นความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1) (3) (6) และ วรรคสอง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตจึงมีอำนาจสอบสวน
พ. ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์เนื่องจาก พ. และผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเท่ากับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน พ. จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นหลานสาวถูกจำเลยพรากตัวไป ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตจึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140, 141
ฎีกาของจำเลยที่ว่า ตามข้อเท็จจริงก่อนที่จำเลยจะพาผู้เสียหายไปที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ และพักอยู่ที่นั่นหลายวันจนถูกจับกุมตัว จำเลยพาผู้เสียหายไปที่บ้านพี่สาวของจำเลยที่บางแคก่อนและพักอยู่ 1 คืน จากนั้นจำเลยพาผู้เสียหายนั่งรถโดยสารเดินทางหลายร้อยกิโลเมตร และพักอยู่ที่จังหวัดกระบี่ ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือจากบุคคลใดทั้งที่มีโอกาสทำได้ และร่วมประเวณีกันหลายครั้ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารย์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ไม่ใช่วรรคสามเป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง