โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 20,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 16,950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ แต่เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ธ.5752/2545 ของศาลชั้นต้น และเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 19307 , 22013 และ 22015 ของบริษัทบี เอส เอ็ม ซี ไมนิ่ง จำกัด ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ในคดีดังกล่าว โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาท จำเลยเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 70,500,000 บาท มีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยจำเลยวางเงินมัดจำ 50,000 บาท และจะชำระราคาส่วนที่เหลือ 70,450,000 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันซื้อเป็นต้นไป เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาการชำระเงินออกไปอีก 3 เดือน ครบกำหนดวันที่ 10 ธันวาคม 2548 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินอีกครั้ง แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำร้อง และจำเลยมิได้ชำระเงินส่วนที่เหลือ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงริบเงินมัดจำ 50,000 บาท ที่จำเลยวางไว้ในการประมูลซื้อที่ดินพิพาท และจะนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดใหม่ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดใหม่ ซึ่งนายสุธีภาคย์เป็นผู้สู้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 50,000,000 บาท มีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างนายสุธีภาคย์กับเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยนายสุธีภาคย์วางเงินมัดจำ 3,500,000 บาท จะชำระราคาส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันซื้อเป็นต้นไป แต่นายสุธีภาคย์มิได้ชำระเงินส่วนที่เหลือภายในเวลาที่กำหนด เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงริบเงินมัดจำที่นายสุธีภาคย์วางไว้ในการประมูลซื้อที่ดินพิพาท และจะนำที่ดินออกขายทอดตลาดใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดใหม่ ในครั้งนี้มีนายเจตน์เป็นผู้สู้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 50,000,000 บาท มีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างนายเจตน์กับเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยนายเจตน์วางเงินมัดจำ 3,500,000 บาท ชำระราคาส่วนที่เหลือ 46,500,000 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันซื้อเป็นต้นไป ครั้นวันที่ 14 ธันวาคม 2549 นายเจตน์ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ 46,500,000 บาท ครบถ้วน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระยองจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่นายเจตน์แล้ว หลังจากนั้นนายเจตน์ยื่นคำร้องขอคืนภาษี เจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจสอบพบว่านายเจตน์ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้องและศาลฎีกาพิพากษายกฎีกา คดีถึงที่สุด ต่อมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 โจทก์รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทจากกรมบังคับคดี
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เรียกเงินราคาในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาดเนื่องจากจำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเอาที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำและได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หลังจากจำเลยประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงสุดแล้วละเลยเสียไม่ชำระราคาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกขายทอดตลาดซ้ำอีกถึงสองครั้งเพราะผู้ประมูลครั้งที่สองก็ไม่ได้ชำระราคาและถูกริบมัดจำเช่นเดียวกันกับจำเลยจนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกประกาศขายทอดตลาดใหม่ จนกระทั่งนายเจตน์เข้าประมูลสู้ราคาสูงสุดจำนวน 50,000,000 บาท และชำระราคาครบถ้วนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2549 การขายทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันดังกล่าวจึงต้องถือว่าวันที่ผู้สู้ราคาสูงสุดได้ชำระราคาครบถ้วนเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินในส่วนที่ขาดจากการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 ได้เป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายและทำสัญญาซื้อขายตามที่จำเลยฎีกา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 นับแต่วันดังกล่าวไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นนี้มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 บัญญัติว่า "ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาเดิมคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด" การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้สู้ราคาคนเดิมต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดจึงเป็นความรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกำหนดจำนวนไว้แน่นอนแล้วว่าเป็นส่วนต่างระหว่างราคาที่ผู้สู้ราคาคนเดิมเสนอกับราคาที่ขายได้ในครั้งหลัง แม้ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดี ข้อ 2.3 จะมีข้อความระบุว่า "หากจำเลยไม่ชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือภายในกำหนด ยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปได้ราคาสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด จำเลยยอมรับผิดชดใช้ให้เต็มจำนวนที่จำเลยประมูลไว้ในครั้งก่อน" ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงการนำเงื่อนไขตามหลักกฎหมายข้างต้นมาระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ราคาส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดชำระจึงไม่เป็นเบี้ยปรับที่ศาลจะลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดโดยนำเงินมัดจำที่เจ้าพนักงานบังคับคดีริบไว้มาหักออกจากส่วนต่างราคาที่จำเลยจะต้องรับผิด ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ