คดีสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจจนมีการจับกุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ ตามลำดับ สมควรลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 40 ปี และปรับคนละ 800,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,200,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนกับฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ลดโทษให้ในความผิดฐานนี้กึ่งหนึ่ง ส่วนฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 20 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 800,000 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 37 ปี 6 เดือน และปรับ 900,000 บาท ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 3 เดือน คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 20 ปี 3 เดือน และปรับคนละ 400,000 บาท จำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 8 เดือน และปรับ 800,000 บาท และจำเลยที่ 4 มีกำหนด 37 ปี 6 เดือน และปรับ 900,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2558 ศาลชั้นต้น อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟัง วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฟัง โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสาม ส่วนโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 เครื่อง ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลจังหวัดสีคิ้วออกหมายจำคุกและกักขังเมื่อคดีถึงที่สุดแทนศาลชั้นต้นแก่จำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 โดยระบุในหมายว่า คดีถึงที่สุดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2558 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 29 เมษายน 2558 ผ่านเรือนจำกลางคลองไผ่ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 29 เมษายน 2558 วันที่ 21 เมษายน 2558 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาและยื่นฎีกา ผ่านเรือนจำกลางคลองไผ่ ศาลชั้นต้นรับคำร้องและฎีกาดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 โดยสั่งในคำร้องขออนุญาตฎีกาในวันดังกล่าวว่า รวมส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว สำเนาให้อีกฝ่ายทราบ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด และสั่งในฎีกาในวันที่ 29 เมษายน 2558 ว่า สั่งในคำขออนุญาตฎีกา ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ศาลฎีกามีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 4 เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรจะได้วินิจฉัย อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ฎีกา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ซึ่งในวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวให้จำเลยที่ 4 ฟัง แล้วออกหมายจำคุกและกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาแทนศาลชั้นต้นในวันดังกล่าว และให้ยกเลิกหมายจำคุกและกักขังเมื่อคดีถึงที่สุดฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 แต่วันที่ 6 ธันวาคม 2559 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาผ่านเรือนจำกลางคลองไผ่ ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอถอนฎีกาของจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 และมีคำสั่งในคำร้องขอถอนฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า สำเนาให้โจทก์ ศาลยังไม่ได้ส่งสำนวนไปศาลฎีกา อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ถอนฎีกา ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยที่ 4 นับแต่วันที่จำเลยที่ 4 ยื่นขอถอนฎีกา แล้วออกหมายจำคุกและกักขังเมื่อคดีถึงที่สุดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 โดยระบุว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 6 ธันวาคม 2559 และแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยที่ 4 ทราบเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562
วันที่ 26 สิงหาคม 2562 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนวันคดีถึงที่สุดเด็ดขาด จากวันที่ 6 ธันวาคม 2559 (วันยื่นคำร้องขอถอนฎีกา) เป็นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 (วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์) ผ่านเรือนจำกลางคลองไผ่ ศาลชั้นต้นรับคำร้องดังกล่าววันที่ 24 กันยายน 2562 และวันที่ 25 กันยายน 2562 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำสั่งศาลฎีกา ซึ่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ฎีกา ให้จำเลยที่ 4 ฟัง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ศาลชั้นต้น จึงมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 4 ครั้นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 เรือนจำกลางคลองไผ่ ส่งคำร้องขอถอนฎีกาของจำเลยที่ 4 มาที่ศาลศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งในวันดังกล่าวว่า อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ถอนฎีกา กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่สุดในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 4 ฟัง และไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง แจ้งจำเลยที่ 4 ทราบผ่านทางเรือนจำกลางคลองไผ่
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่สุดเมื่อใด เห็นว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 4 เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงอยู่ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 หลังจากศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 4 ฟัง จำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาและยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาโดยผ่านเรือนจำกลางคลองไผ่เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ศาลชั้นต้นรับคำร้องและฎีกาดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 โดยสั่งในคำร้องขออนุญาตฎีกาในวันดังกล่าวว่า รวมส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว สำเนาให้อีกฝ่ายทราบ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด และสั่งในฎีกาในวันที่ 29 เมษายน 2558 ว่า สั่งในคำขออนุญาตฎีกา ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ศาลฎีกามีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 4 เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรจะได้วินิจฉัย อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ฎีกา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป โดยศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวให้จำเลยที่ 4 ฟังวันที่ 7 ธันวาคม 2559 แต่ก่อนที่จำเลยที่ 4 ฟังคำสั่งศาลฎีกา ในวันที่ 6 ธันวาคม 2559 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาผ่านเรือนจำกลางคลองไผ่ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 4 ต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จำเลยที่ 4 ย่อมมีสิทธิยื่นฎีกาต่อพัศดีได้ และการยื่นฎีกาต่อพัศดีดังกล่าวหากส่งไปถึงศาลเมื่อพ้นกำหนดเวลาฎีกาให้ถือว่าเป็นฎีกาที่ยื่นภายในกำหนดเวลาฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 199 ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวสามารถใช้แก่การถอนฎีกาต่อพัศดีด้วยเช่นกัน เมื่อเรือนจำกลางคลองไผ่รับคำร้องขอถอนฎีกาของจำเลยที่ 4 วันที่ 6 ธันวาคม 2559 แล้ว แม้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอถอนฎีกาของจำเลยที่ 4 ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 หลังจากที่ศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำสั่งศาลฎีกาที่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ฎีกาก็ตาม กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาก่อนที่คำสั่งศาลฎีกาที่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ฎีกามีผล เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ถอนฎีกา ย่อมมีผลลบล้างการยื่นฎีกาและขออนุญาตฎีกาของจำเลยที่ 4 คดีของจำเลยที่ 4 จึงถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นวันที่ศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 4 ฟัง ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง มิใช่ถึงที่สุดวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยที่ 4 นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558