โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 310, 318
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม (เดิม), 310 วรรคหนึ่ง (เดิม), 318 วรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 83, 86 (ที่ถูก ไม่ต้องประกอบมาตรา 83) เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย จำคุก 6 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี จำเลยนำสืบรับข้อเท็จจริงบางข้อ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และหลังเกิดเหตุจำเลยชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 ไปส่วนหนึ่งเพื่อเยียวยาความเสียหายเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงแรก 4 ปี กระทงหลัง 5 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 9 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม (เดิม), 310 วรรคหนึ่ง (เดิม), 318 วรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุตรของผู้เสียหายที่ 2 ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุ 15 ปีเศษ อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องนาย ธ. กับพวก ล่อลวงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปข่มขืนกระทำชำเราที่ขนำกลางทุ่งนา โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงเพื่อสนองความใคร่ และจำเลยติดตามผู้เสียหายที่ 1 ไปและอยู่ในที่เกิดเหตุตลอดระยะเวลาที่ผู้เสียหายที่ 1 ถูกกระทำชำเราด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนาย จ. จะไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยร่วมข่มขืนกระทำชำเราหรือเข้าไปช่วยเหลือคนอื่นในการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ก็ตาม แต่ตามคำให้การที่นาย จ. ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การพยานในคดีอื่นและคำเบิกความของนาย จ. ในคดีดังกล่าวได้ความว่า ขณะนาย จ. กำลังขับรถจักรยานยนต์มีผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนท้ายกลับบ้านพบนาย ธ. ขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยนั่งซ้อนท้ายมาจอด จำเลยบอกให้นาย จ. ช่วยไปส่งเพื่อนเพราะพวกของตนหลายคนแต่มีรถจักรยานยนต์ไม่เพียงพอแก่การโดยสาร จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์ที่นาย ธ. ขับไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่นาย จ. ขับและผู้เสียหายที่ 1 นั่งซ้อนตรงกลาง นาย จ. ขับรถจักรยานยนต์แล่นไปยังขนำที่เกิดเหตุตามคำบอกเส้นทางของจำเลย เมื่อไปถึงนาย ล. ออกจากขนำไปดึงลูกกุญแจรถจักรยานยนต์ของนาย จ. ออกแล้วผู้เสียหายที่ 1 ถูกพวกนาย ธ. ฉุดกระชากตัวเข้าไปในขนำบังคับข่มขืนกระทำชำเราโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน แต่สำหรับคดีนี้ผู้เสียหายที่ 1 และนาย จ. เบิกความ หลังเกิดเหตุเป็นเวลาเกือบสิบปี โดยผู้เสียหายที่ 1 ยอมรับว่าได้รับเงินจากจำเลย 30,000 บาท ส่วนนาย จ. ไม่ยอมไปเบิกความจนศาลชั้นต้นต้องออกหมายจับจึงมาเบิกความได้ พฤติการณ์เช่นนี้เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 และนาย จ. ย่อมเบิกความให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรในชั้นพิจารณาคดีนี้ที่จะรับฟังคำเบิกความของนาย จ. ที่เบิกความไว้ในคดีอื่นที่พวกของจำเลยถูกฟ้องในการกระทำความผิดเดียวกันนี้ประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/5 เมื่อผู้เสียหายที่ 1 และนาย จ. ต่างเบิกความรับรองบันทึกคำให้การพยานในคดีนี้ และเอกสารในคดีอื่นตามลำดับ ว่าเป็นคำให้การที่ผู้เสียหายที่ 1 ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุและนาย จ. ให้การหลังเกิดเหตุเพียง 5 วัน ไม่มีเวลาคิดแต่งเติมเสริมข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งผู้เสียหายที่ 1 และนาย จ. ให้การขณะยังเป็นเยาวชน มีพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาอยู่ด้วย ไม่มีข้อพิรุธใดอันเป็นเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะบิดเบือนข้อเท็จจริงปรักปรำใส่ความผู้ใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยซึ่งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน และข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยตามบันทึกคำให้การพยานของนาย จ. ระบุว่า จำเลยมิได้ร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เพียงเข้าช่วยเหลือพวกของจำเลยเท่านั้น หากนาย จ. จะบิดเบือนแต่งเติมข้อเท็จจริงให้ร้ายจำเลยย่อมสามารถยืนยันได้ว่าจำเลยเข้าร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ด้วยได้ บันทึกคำให้การพยานในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 และนาย จ. จึงเชื่อได้ว่าเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาของศาล นอกจากนี้โจทก์ยังมีคำให้การที่นาย ธ. ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุในสำนวนคดีอื่น โดยมีพนักงานสอบสวนเบิกความรับรองเอกสารในคดีดังกล่าวว่า นาย ธ. ให้การโดยระบุชัดแจ้งถึงการกระทำของตนและพวกเป็นรายบุคคลไป กล่าวถึงจำเลยว่าร่วมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจับแขนขาและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ด้วย แม้บันทึกคำให้การผู้ต้องหาและบันทึกรับสารภาพของนาย ธ. เป็นพยานบอกเล่า และโจทก์มิได้นำนาย ธ. มาเบิกความ แต่กฎหมายมิได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานบอกเล่าเสียทีเดียว หากพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานบอกเล่าและซัดทอดนั้น เพียงแต่ว่าการชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอดหรือพยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) และมาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาของนาย ธ. ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการร่วมกระทำความผิดสำคัญที่กล่าวถึงการกระทำของตนและผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันดังกล่าวย่อมมิใช่เป็นเพียงคำซัดทอดเพื่อให้ตนพ้นจากความผิด และน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ที่จำเลยนำสืบและฎีกาอ้างว่า จำเลยร่วมไปยังที่เกิดเหตุโดยเข้าใจว่าพวกจะพากันไปร่วมงานวันครบรอบวันเกิดเพื่อนโดยไม่ทราบว่าบุคคลเหล่านั้นจะกระทำความผิด และจำเลยพยายามห้ามมิให้พวกของตนล่วงเกินผู้เสียหายที่ 1 แล้วแต่ไม่เป็นผลนั้น นอกจากขัดต่อเหตุผลเนื่องจากขณะเกิดเหตุเป็นเวลาวิกาล ที่เกิดเหตุเป็นทุ่งนาห่างไกลจากบ้านคนและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการจัดงานวันเกิดแต่อย่างใด ทั้งจำเลยก็อยู่ในที่เกิดเหตุตลอดเวลาจนออกจากที่เกิดเหตุเวลา 3 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ตามคำให้การของบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ให้การหลังเกิดเหตุทันทีไม่ปรากฏว่ามีพยานคนใดที่ให้การว่าจำเลยได้ห้ามมิให้พวกล่วงเกินผู้เสียหายที่ 1 หรือจำเลยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักแก่การรับฟัง พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวเมื่อรับฟังประกอบกันแล้วจึงมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับนาย ธ. และพวก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาโดยปรับบทความผิดให้ถูกต้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน