โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 8,898,063.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 4,741,389.49 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และกองมรดกของนายสัมฤทธิ์ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 8,898,063.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิคิดเอาได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ แต่ไม่ให้เกินไปกว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอจากต้นเงิน 4,741,389.49 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11750 ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง นำออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นจากกองมรดกของนายสัมฤทธิ์ ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสัมฤทธิ์ ให้ร่วมกันรับผิดในหนี้ของนายสัมฤทธิ์ ไม่เกินไปกว่าทรัพย์มรดกของนายสัมฤทธิ์ที่ตกทอดได้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
ภายหลังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้ว บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีและกู้เงินไปจากโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับลงวันที่ 22 เมษายน 2537 สัญญาจะจ่ายเงินให้โจทก์ 3,000,000 บาท ในวันที่ 22 กันยายน 2537 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จำเลยที่ 2 และนายสัมฤทธิ์ มีชื่อเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และนายสัมฤทธิ์ยังมีชื่อเป็นผู้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 11750 ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันการชำระหนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2542 นายสัมฤทธิ์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นทายาทโดยธรรมของนายสัมฤทธิ์
ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอย่างไร จึงเป็นฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยทั้งห้าต่อสู้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและโจทก์ปิดบัญชีกระแสรายวันโดยพลการเท่านั้น จำเลยทั้งห้ามิได้ต่อสู้ในเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไว้แต่อย่างใด จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์มิได้นำสืบถึงการเข้าสวมสิทธิตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้น เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีและมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งห้ามิได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ จำเลยทั้งห้าก็ไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้านั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งห้ากล่าวอ้างในฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เข้าสวมสิทธิแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โดยไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งห้าคัดค้านคำสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลยทั้งห้าเพื่อให้จำเลยทั้งห้าได้มีโอกาสคัดค้านก่อนนั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามมาตรา 27 แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นทำให้คู่ความฝ่ายใดต้องเสียหายหรือไม่ประกอบด้วย หากเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นไม่เป็นเหตุให้คู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรมหรือการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่เพิกถอนได้ตามที่เห็นสมควร เมื่อปรากฏตามสำนวนว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นสวมสิทธิโดยมิได้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลยทั้งห้าแต่ก็ได้แจ้งคำสั่งนั้นให้จำเลยทั้งห้าทราบ แต่จำเลยทั้งห้ามิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้รับโอนกิจการผู้สวมสิทธิเดิมหรือมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิ ทั้งนี้คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมชำระหนี้ตามฟ้อง จำเลยทั้งห้าจึงมีหน้าที่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา หากไม่ชำระเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็อาจบังคับคดีได้อยู่แล้ว ดังนั้นแม้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนผู้สวมสิทธิเดิม โดยมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทั้งห้าก่อน จะเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยทั้งห้าเสียหายจึงยังไม่มีเหตุอื่นใดอันสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่า สัญญาค้ำประกันที่ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน เป็นสัญญาค้ำประกันที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดยเป็นสัญญาปลอม และนายสัมฤทธิ์ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองแทนนั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยทั้งห้ามิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร รวมทั้งมิได้ต่อสู้ว่าสัญญาค้ำประกันปลอมและจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจทำสัญญาจำนองแทนนายสัมฤทธิ์ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่า สัญญาค้ำประกันมีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนายสัมฤทธิ์หรือไม่ จำเลยทั้งห้าอ้างว่า พยาน 2 คนที่ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความแสดงว่าเป็นการลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนายสัมฤทธิ์ จึงถือไม่ได้ว่าการพิมพ์ลายนิ้วมือของนายสัมฤทธิ์สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่นายปรัตถวีร์และนายบำรุง ลงลายมือชื่อในช่องพยานในสัญญาค้ำประกัน แม้จะไม่ระบุว่า เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ ก็ถือได้ว่าเป็นการรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนายสัมฤทธิ์ที่ลงไว้ในช่องผู้ค้ำประกันนั่นเอง การลงลายพิมพ์นิ้วมือของนายสัมฤทธิ์จึงถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสอง ส่วนที่อ้างว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องทายาทแล้วนั้น เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อยังไม่ครบ 1 ปี นับแต่โจทก์รู้หรือควรรู้ถึงความตายของนายสัมฤทธิ์ จำเลยทั้งห้ามิได้อุทธรณ์โต้แย้งในข้อนี้ กรณีจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสัมฤทธิ์ ผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าในข้อต่อไปว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ได้หรือไม่ โดยจำเลยทั้งห้าฎีกาว่า ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน จึงสมควรลดดอกเบี้ยลง เห็นว่า ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีข้อ 3 กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14.5 ต่อปี โดยอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีเบิกเกินบัญชี (เอ็ม.โอ.อาร์) ของโจทก์ บวกร้อยละ 2 ต่อปี สำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีภายในวงเงินและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี สำหรับยอดเงินที่สูงกว่าวงเงิน ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดมิได้มีข้อสัญญาระบุไว้ ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 3,045,252.62 บาท ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2540 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 2,062,345.19 บาท นางรัตนาพยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในฐานะลูกหนี้ผิดนัดตามสัญญาจำนองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเห็นได้ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดโดยไม่มีสิทธิคิดได้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ไม่เกินกว่าที่กฎหมายหรือประกาศกำหนดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จึงสมควรแก้ไขดอกเบี้ยของหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโดยกำหนดให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาอันเป็นสิทธิที่โจทก์พึงได้โดยชอบมาแต่เดิม จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในต้นเงิน 3,045,252.62 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีเบิกเกินบัญชี (เอ็ม.โอ.อาร์) บวกร้อยละ 2 ต่อปี จากต้นเงิน 3,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 45,252.62 บาท นับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เห็นว่า ตามข้อตกลงเรื่องการกู้เงินข้อ 4 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสูงสุดกรณีผู้กู้ผิดนัดได้ การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 1,528,911.69 บาท ในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 19 ต่อปี ตามรายการคำนวณดอกเบี้ยประกอบกับประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ จึงเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ไม่เป็นเบี้ยปรับนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงโดยกำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยเท่ากับหนี้เบิกเงินเกินบัญชี แต่เนื่องจากมีการโอนหนี้ของโจทก์คดีนี้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แล้ว สิทธิในการคิดดอกเบี้ยจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทั้งห้าข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า หนี้เบิกเงินเกินบัญชี 3,045,252.62 บาท ให้จำเลยทั้งห้าชำระดอกเบี้ยอัตราลูกค้าชั้นดีเบิกเกินบัญชี (เอ็ม.โอ.อาร์) ของธนาคารโจทก์ บวกร้อยละ 2 ต่อปี จากต้นเงิน 3,000,000 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 45,252.62 บาท นับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 1,528,911.69 บาท ให้จำเลยทั้งห้าชำระดอกเบี้ยอัตราลูกค้าชั้นดีเบิกเกินบัญชี (เอ็ม.โอ.อาร์) ของธนาคารโจทก์ บวกร้อยละ 2 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และเมื่อไม่มีฐานในการคำนวณของธนาคารโจทก์ใช้อ้างอิง ให้คำนวณอัตราดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง แต่อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนทุกอัตราต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7