ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 182,781.50 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 ด้วย โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่า ระหว่างเกิดเหตุคดีนี้ สุขาภิบาลโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาล จำเลยที่ 3 เป็นปลัดสุขาภิบาล และจำเลยที่ 1 เป็นสมุห์บัญชีหรือหัวหน้าหน่วยการคลัง ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีซึ่งเป็นลูกจ้างของธนาคารจำเลยที่ 5 โจทก์ฝากเงินไว้กับจำเลยที่ 5 ประเภทฝากออมทรัพย์ การถอนเงินดังกล่าวจำต้องลงลายมือชื่อเจ้าของบัญชีคือจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในใบขอถอนเงินออมทรัพย์ตามตัวอย่างลายมือชื่อที่ให้ไว้กับจำเลยที่ 5 หากมอบฉันทะให้ผู้ใดรับเงินแทนก็ต้องระบุชื่อผู้รับมอบฉันทะและลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในช่องผู้มอบฉันทะลงลายมือชื่อผู้รับมอบฉันทะในช่องผู้รับมอบฉันทะด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2485 ให้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินสุขาภิบาล พ.ศ. 2518 ไว้ ตามเอกสารหมาย จ.6 เกี่ยวกับการถอนเงินฝากและการรับเงิน ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของประธานกรรมการสุขาภิบาล ปลัดสุขาภิบาลและหัวหน้าหน่วยการคลัง ลงชื่อถอนร่วมกัน การรับเงินห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของสุขาภิบาลไปรับแต่ลำพังผู้เดียว ต้องมีกรรมการไปรับเงินร่วมกันรับผิดชอบเป็นคณะ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2520 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ได้ลงลายมือชื่อถอนเงินฝากกับมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 รับเงินแทนโดยจำเลยที่ 2มิได้ตั้งกรรมการไปรับเงินร่วมกับจำเลยที่ 1 ใบขอถอนเงินเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 1 เป็นคนกรอกรายการรวมทั้งจำนวนเงินที่เป็นตัวเลข "2,781.50" และตัวหนังสือ "สองพันเจ็ดร้อยแปดสิบเอ็ดบาทห้าสิบสตางค์" ในเวลาต่อมาจำเลยที่ 1ลักลอบเติมตัวเลข "18" และตัวหนังสือ "หนึ่งแสนแปดหมื่น" ลงหน้าตัวเลขและตัวหนังสือเดิม กลายเป็นว่าขอถอนเงิน 182,781 บาท 50 สตางค์ แล้วจำเลยที่ 1นำไปยื่นต่อจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้อนุมัติจ่ายเงินจำนวน 182,781 บาท 50 สตางค์ ให้จำเลยที่ 1 รับไป และจำเลยที่ 1 ยักยอกเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตน" ฯลฯ
"สำหรับจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย โดยไม่ตั้งกรรมการไปรับเงินร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำโจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่าตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวคือเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 60 ความว่าการไปรับเงินที่ธนาคารถ้าจำนวนเงินไม่เกิน 30,000 บาท ต้องมีกรรมการควบคุมอย่างน้อย 2 คน โดยมีปลัดสุขาภิบาลหรือหัวหน้าหน่วยงาน หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าหัวหน้าหน่วยงานร่วมไปด้วยอย่างน้อย 1 คน และให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมไปด้วยอย่างน้อย 1 คน จำเลยที่ 2 มิได้ตั้งกรรมการไปรับเงินร่วมกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นโอกาสให้จำเลยที่ 1 ปลอมใบขอถอนเงินและรับเงินจากธนาคารไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ถ้าหากจำเลยที่ 2 ตั้งกรรมการไปรับเงินร่วมกับจำเลยที่ 1 กรรมการก็อาจควบคุมมิให้จำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวได้ ฉะนั้นการละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์"
พิพากษายืน