โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 และมาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฟ้องเท็จ จำคุก 1 ปี ฐานเบิกความเท็จ จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยโดยบรรยายฟ้องชัดแจ้งว่าเป็นฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ และโจทก์ยังบรรยายฟ้องว่าการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานฟ้องเท็จและข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคล สิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาที่จำเลยนำมาฟ้องโจทก์เป็นคดีต่อศาลแขวงอุบลราชธานี และโจทก์แนบสำเนาฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3766/2547 เป็นส่วนหนึ่งของฟ้องที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้กล่าวว่าทำเอกสารปลอม และได้บรรยายความผิดฐานเบิกความเท็จและแนบสำเนาคำเบิกความและสำเนาคำพิพากษามาท้ายฟ้องซึ่งความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเบิกความเท็จไม่เคลือบคลุม เห็นว่า ความผิดฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 บัญญัติว่า "ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา..." พิจารณาแล้วฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่าเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางวันจำเลยเอาความเท็จฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงอุบลราชธานี โดยจำเลยบรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 โจทก์ได้ปลอมสัญญากู้เงินของนายแสวง และนางอำนวย ที่ทำสัญญากู้เงินไว้กับกลุ่มออมทรัพย์ บ้านหนองบัวแดง หมู่ที่ 3 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2543 ปลอมเอกสารดังกล่าวจากเดือนมีนาคมเป็นเดือนเมษายนทั้งสองฉบับด้วยเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงินของกลุ่มออมทรัพย์ บ้านหนองบัวแดง ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน รายละเอียดปรากฏตามสำเนาฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3766/2547 ซึ่งความจริงแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2544 จำเลยทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีแล้วว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดหรือปลอมเอกสารดังกล่าวตามที่จำเลยได้ฟ้อง แต่ยังกลั่นแกล้งนำความเท็จมาฟ้องต่อศาลเพื่อต้องการให้โจทก์ได้รับโทษ รายละเอียดในการทราบความจริงของจำเลยปรากฏตามสำเนาบันทึกการสอบข้อเท็จจริง สำเนาฟ้องระบุว่าจำเลยฟ้องโจทก์ข้อหาปลอมเอกสาร โจทก์บรรยายว่าจำเลยเอาความเท็จมาฟ้องโจทก์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ความจริงเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2544 จำเลยทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดหรือปลอมเอกสารดังกล่าวตามที่จำเลยฟ้อง แต่ยังกลั่นแกล้งนำความเท็จมาฟ้องต่อศาลเพื่อต้องการให้โจทก์ได้รับโทษ โจทก์กล่าวถึงความจริงว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดหรือไม่ได้ปลอมเอกสารตามที่จำเลยฟ้องโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าคำฟ้องของจำเลยเป็นเท็จและความจริงโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ส่วนความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 บัญญัติว่า "ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี... ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา..." ฟ้องโจทก์บรรยายถึงคำเบิกความของจำเลยที่เป็นเท็จและบรรยายว่าความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งความจริงโจทก์ไม่ได้ปลอมเอกสารตามที่จำเลยเบิกความ โจทก์แนบคำเบิกความของจำเลยตามสำเนาคำให้การและสำเนาคำพิพากษา ถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่าโจทก์ปลอมเอกสาร เมื่อพิจารณาคำเบิกความดังกล่าวและคำพิพากษาแล้วจำเลยเบิกความว่า โจทก์กระทำความผิดข้อหาปลอมเอกสารขอให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 หากศาลเชื่อว่าโจทก์กระทำความผิดจริงก็จะทำให้โจทก์ต้องถูกพิพากษาลงโทษ คำเบิกความว่าโจทก์ปลอมเอกสารเป็นข้อสำคัญ ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องเป็นการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์ทั้งสองข้อหาชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้อาจต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี